Knowledge

9 แนวโน้มการตลาดแห่งทวีปเอเชียที่คุณต้องรู้

2.5k
SHARE

สหพันธ์การตลาดแห่งเอเชีย Asia Marketing Federation (AMF) และสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย จัดทำรายงานพิเศษในหัวข้อ ‘9 แนวโน้มการตลาดแห่งเอเชียที่น่าจับตามองในปี 2562′ โดยเป็นการจับความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงด้านการตลาดในภูมิภาคผนวกกับการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสมาชิกในทวีปเอเชีย

สหพันธ์การตลาดแห่งเอเชีย Asia Marketing Federation (AMF) เป็นองค์กรระดับภูมิภาคและเป็นเครือข่ายของสมาคมการตลาดในเอเชียที่มีภารกิจสำคัญในการมุ่งพัฒนาเครือข่ายและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาคมการตลาดในภูมิภาคเอเชีย อันจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ร่วมกันในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งได้แก่ ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง มาเก๊า สิงคโปร์ ไต้หวัน มองโกเลีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย พม่า กัมพูชา เวียดนาม ศรีลังกา และ บังคลาเทศ

1. Fintech นวัตกรรมด้านการเงินที่จุดกระแสความเปลี่ยนแปลงให้ธนาคารก้าวข้ามทุกข้อจำกัด

เมื่อผู้บริโภคก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลเต็มรูปแบบ การทำธุรกรรมทางการเงินของบุคคลทั่วไปได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และช่องทางก็เพิ่มมากขึ้น  ธนาคารพาณิชย์จึงมีการปรับตัวเพื่อตอบรับความต้องการหลายด้าน อาทิ ด้านการให้บริการต่างๆ รวมถึงแพลตฟอร์มการชำระเงินออนไลน์ที่คล่องตัวและตรงความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น

และธนาคารเริ่มกล้าที่จะก้าวข้ามขีดจำกัดแบบเดิมๆ และหันมามองนวัตกรรมใหม่ๆที่จะเอื้อประโยชน์กับผู้บริโภค และเริ่มใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) โดยมีการวิเคราะห์เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์และเกิดความแม่นยำมากขึ้น เช่น การประเมินเครดิตลูกค้ารูปแบบใหม่ ผ่านการวิเคราะห์การใช้จ่ายของพวกเขามากกว่าการตรวจสุขภาพการเงินแบบเดิมๆ

ในมุมของโลกค้าปลีก นวัตกรรมทางการเงินและแพลตฟอร์มใหม่ๆช่วยให้เราก้าวสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการชำระเงินผ่านบัญชีที่เชื่อมต่อกับ mobile banking, การชำระผ่านบัตร, หรือการชำระผ่าน e-wallets ซึ่งเป็นอีกทางเลือกที่คล่องตัวและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

2. OMNI Channel – การเชื่อมต่อทุกช่องทางคืออนาคตของโลกค้าปลีก

ในโลกที่ประสบการณ์ที่ตอบโจทย์โดนใจลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ การขายผ่านช่องทางเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป ในปีที่ผ่านมาเราจะได้ยินคำว่า “การเชื่อมต่อทุกช่องทางการขาย – OMNI Channel” และ “โลกใหม่ของการค้าปลีก – New Retail” อยู่บ่อยครั้ง และจะเห็นตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงทั่วทุกภูมิภาค

ผู้เล่นรายใหญ่ในโลกค้าปลีกแบบออนไลน์ เริ่มให้ความสำคัญกับร้านค้าออฟไลน์ และเริ่มขยายสู่โลกของ “การเชื่อมต่อทุกช่องทางการขาย – OMNI Channel” มากขึ้น เพื่อเชื่อมต่อประสบการณ์การช็อปปิ้งออนไลน์เข้ากับออฟไลน์อย่างไร้รอยต่อ และนี่ก็ส่งผลให้ผู้ค้าปลีกที่เคยใช้ช่องทางการขายแค่ในห้างร้าน เริ่มให้ความสำคัญกับ OMNI Channel Marketing มากขึ้น

ผู้ค้าปลีกแบบดั้งเดิมจำนวนมาก ก็เริ่มที่จะพัฒนากลยุทธ์ใหม่ ที่รวมทุกช่องทางการขายเป็นการเดินทางหนึ่งเดียว เพื่อให้ลูกค้าได้เพลิดเพลินกับประสบการณ์การช็อปปิ้งที่ลื่นไหลและเชื่อมต่อประสบการณ์ทุกช่องทางได้อย่างสะดวกสบาย ตั้งแต่การไปเลือกซื้อที่ร้านค้า ได้เห็น ได้ลองเลือก สัมผัสสินค้าจริง และหากสนใจซื้อ ลูกค้าก็สามารถเช็คเกี่ยวกับสี / ขนาด / สต็อคที่มีให้เลือกจนถึงการกดสั่งซื้อและระบุการจัดส่งผ่านช่องทางออนไลน์ขณะที่ยังอยู่ที่ร้านได้ทันที

3. ธุรกิจการชำระเงินบนเครือข่ายดิจิตอลจะเปลี่ยนแปลงโลกการเงินทั้งหมด

ด้วยการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในโลกอีคอมเมิร์ซและความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินบนมือถือ ทำให้การชำระเงินแบบดิจิตอลเป็นช่องทางการจ่ายเงินที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ และนี่ก็เป็นโอกาสของอุตสาหกรรมการให้บริการทางการเงิน ที่จะปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องไปตามพฤติกรรมของผู้ใช้งาน และ สถาบันทางการเงินต่างๆได้ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มาขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

ในวันนี้การชำระเงินแบบดิจิตอลได้ก้าวสู่บทบาทใหม่ จากที่เคยเป็นแค่เครื่องมือในการจ่ายเงินสู่การเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายสำหรับสินเชื่อพิเศษขนาดเล็ก และใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ด้านการจับจ่ายของลูกค้ามาเป็นตัวประเมินความน่าเชื่อถือทางการเงินของผู้กู้ และเพื่อลดความเสี่ยงของผู้ให้กู้ไปพร้อมกัน

การเติบโตของโลกการเงินดิจิตอลในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในธุรกิจแบบเดิมๆ อาทิ ธุรกิจรับแลกเปลี่ยนเงินตรา และ ร้านค้าปลีกรายย่อยที่รับเฉพาะเงินสด ในโลกยุคดิจิตอล เราจะเริ่มเห็นการเกิดขึ้นของธุรกิจแลกเปลี่ยนสกุลเงินข้ามภูมิภาคแบบดิจิตอล ที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนจากกลไกตลาด ซึ่งมีอัตราผันผวนแบบ real time แทนอัตราแลกเปลี่ยนจากหน่วยงานการเงินระดับภูมิภาคแบบเดิมๆ

4. ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเติบโตสู่ความเป็นอัจฉริยะลูกผสม (Hybrid Intelligence / HyIntelligence)

ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) นั้นเป็นเครื่องมือที่มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการช่วยให้องค์กรต่างๆสามารถมีปฎิสัมพันธ์กับลูกค้าได้ในระดับบุคคล เพราะเครื่องมือ AI สามารถช่วยรวบรวมข้อมูลจำนวนมหาศาลของลูกค้าเข้าด้วยกัน พร้อมวิเคราะห์เพื่อนำผลลัพธ์มาปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าและสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งผ่านการตลาดเชิงประสบการณ์ (Experiential marketing)

ในปัจจุบัน ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ ความอัจฉริยะของมนุษย์ (HI) มักจะถูกนำมาใช้เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คน เพราะการเรียนรู้ของปัญญาประดิษฐ์ นั้นขึ้นกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่  (Big Data) ที่ถูกป้อนเข้ามาโดยความอัจฉริยะของมนุษย์ เพื่อคาดการณ์และดำเนินการงานตามคำสั่ง เช่นในกรณีของโปรแกรมตอบกลับอัตโนมัติแบบแชทบอท (Chatbot) และสิริ (SIRI) ความอัจฉริยะแบบลูกผสม (Hybrid Intelligent) หรือที่เรียกแบบย่อว่า (HyIntelligent) เป็นความชาญฉลาดในระดับสูงขึ้นของสมองกล ที่ผสานการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ (AI) และความอัจฉริยะของมนุษย์ (HI) ในระดับเซลล์ประสาทสั่งการ สิ่งนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพของมนุษย์อย่างมาก ตัวอย่างเช่น การฝังแผ่นชิพปัญญาประดิษฐ์ขนาดเล็กระดับนาโน (AI nanochip) ในมนุษย์ที่ช่วยให้เข้าใจการทำงานของระบบประสาท เพื่อลดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งทางวาจาและร่างกาย  เครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ (AI) เหล่านี้จะยังคงถูกนำมาใช้เพื่อช่วยให้ บริษัทต่างๆสามารถสร้างความผูกพันกับลูกค้าในระดับบุคคล ไม่เพียงเฉพาะกับจำนวนลูกค้าในกลุ่มที่ใหญ่มากขึ้นเท่านั้น แต่ในความถี่ที่สูงขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามการนำเทคโนโลยีที่กล่าวมาข้างต้นนี้มาใช้อย่างแพร่หลาย ควรคำนึงถึงความประเด็นความเหมาะสมทางด้านมนุษย์และจริยธรรมด้วยเช่นกัน

5.  Intrapreneur คือทางออกที่ วิน – วิน ในระบบเศรษฐกิจยุคใหม่

ในยุคที่ใครๆ ก็อยากเป็นมีธุรกิจของตัวเอง พนักงานและผู้บริหารองค์กรต่างๆ ที่มีความสามารถแห่กันลาออกไปตามหาความฝัน ปรากฏการณ์นี้ทำให้องค์กรยุคเก่าต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีศักยภาพ ส่วนผู้ที่ลาออกไปเริ่มต้นกิจการนั้นก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป เห็นได้ชัดจากตัวเลขธุรกิจสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จนั้นมีจำนวนน้อยมาก และส่วนใหญ่มักประสบปัญหาในการขยายธุรกิจ หรือ scale up ไม่ได้

เพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ องค์กรหลายแห่งเริ่มส่งเสริมให้พนักงานพัฒนาตัวเองเป็น ‘ผู้ประกอบการภายในองค์กร’ หรือ ‘Intrapreneur’ นั่นหมายถึงเป็นบุคลากรที่เต็มใจปฏิบัติงานเสมือนตนเป็นเจ้าของกิจการคนหนึ่ง คนกลุ่มนี้พร้อมจะเสนอตัวรับผิดชอบ เสนอไอเดีย สร้างนวัตกรรม และยอมรับความเสี่ยงตลอดจนทำงานอย่างอุตสาหะเพื่อนำไปสู่ผลกำไรในบั้นปลาย

เมื่อ Intrapreneur เหล่านี้มีไอเดียและเป้าหมายที่ชัดเจน องค์กรสมัยใหม่จะต้องให้การสนับสนุนทั้งทางการเงินและการเข้าถึงทรัพยากร เพื่อให้พวกเขาสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือบริการใหม่ๆ ขึ้นมาได้แลกกับการรับผลตอบแทนที่มากกว่าแค่เงินเดือน ยกตัวอย่างเช่น การได้หุ้นบริษัท หรือได้ผลตอบแทนอื่นที่มากกว่าตัวเงิน ซึ่งดูเหมือนว่ากลยุทธ์การบริหารบุคคลรูปแบบใหม่นี้จะตอบโจทย์ทั้งองค์กรและพนักงานได้แบบ วิน-วิน ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

6. เทคโนโลยีโดรนคือเครื่องมือชนิดใหม่ของการตลาดและการโฆษณา

เทคโนโลยียุคใหม่เป็นประตูสู่โอกาสใหม่ๆในการสร้างความแตกต่าง และในยุคนี้คงต้องกล่าวถึง “โดรน – Drone” ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่มาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสร้างสรรค์งานด้านการตลาดและการสื่อสารในทุกวันนี้

ในอดีต หากต้องการภาพถ่ายทางอากาศสวยๆ เราจะต้องลงทุนมหาศาลในการผลิต ต้องใช้เครน ติดตั้งนั่งร้าน  หรือแม้แต่ใช้เฮลิคอปเตอร์ ซึ่งต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการผลิตมหาศาล และมีเพียงแบรนด์ใหญ่ๆเท่านั้นที่มีงบประมาณมากพอจะทำได้  แต่ในปัจจุบันนี้ “โดรน – Drone” ทำให้การสร้างวีดีโอมาร์เก็ตติ้งสวยๆนั้นไม่เกินเอื้อมอีกต่อไป เราจะได้เห็นภาพถ่ายทางอากาศสวยๆของโครงการอสังหาริมทรัพย์ มุมกล้องแปลกใหม่ในหนังภาพยนตร์ฟอร์มเล็ก หรือภาพสวยๆที่บรรดาบล็อกเกอร์ใช้โดรนในการถ่ายทำ และที่มากกว่านั้น คือ ในบางประเทศยังสามารถใช้โดรนเป็นสื่อโฆษณาที่ใช้นำเสนอแบนเนอร์ หรือฉายข้อความดิจิตอลบนแลนด์มาร์ค สถานที่สำคัญ ต่างๆได้อีกด้วย เป็นการเปิดมุมมองความสร้างสรรค์ใหม่ๆให้กับโลกการตลาดทีเดียว

7. ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ 24/7 พร้อมเปลี่ยนแปลงวิถีการบริโภค

ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติทั้งแบบใช้เงินสดและไม่ใช้เงินสด ทั้งแบบที่ขายสินค้าพื้นฐานอย่างน้ำผลไม้สด ไปจนถึงอาหารสดชั้นดีอย่างเนื้อปลาแซลมอนในแพ็คสูญญากาศกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในสิงคโปร์  ข้อดีของตู้หยอดเหรียญคือเป็นการทำงานแบบไม่ต้องใช้คนขาย เปิดตลอด 24 ชั่วโมง เปิดทุกวัน และเสนอทางเลือกชำระเงินที่หลากหลาย และความนิยมตู้อัติโนมัติที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบกับผู้ค้ารายย่อย เช่นร้านขายเครื่องดื่มข้างถนน หรือร้านขายของชำ

ในขณะเดียวกันตู้ขายสินค้าอัตโนมัตินี้ ยังกลายเป็นพื้นที่สื่อโฆษณากลางแจ้งราคาย่อมเยา ที่เป็นทางเลือกใหม่ๆในการทำโฆษณาแบบ Out-Of-Home (OOH) แต่นักการตลาดต้องมีความเข้าใจกลุ่มตลาดเป้าหมาย ทั้งในแง่ทำเลที่ตั้งเชิงกลยุทธ์ และ ธรรมชาติการรับสื่อ Out-Of-Home (OOH) ของพวกเขา จึงจะสามารถเลือกใช้ สื่อโฆษณาบนตู้ขายสินค้าอัตโนมัติเป็นชช่องทางการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

8. ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสังคมจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ในยุคที่ลูกค้าได้รับการเชื่อมต่อและรับรู้ข่าวสารทางโลกออนไลน์ย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง พวกเขามีแนวโน้มที่จะตัดสินใจโดยใช้ความรู้สึกเป็นตัวนำ แต่ในโลกของธุรกิจขนาดใหญ่ นั้นยากที่แบรนด์จะสามารถสร้างความรู้สึกผูกพันกับลูกค้า ดังนั้น เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ธุรกิจจำนวนมากต่างหันมาใช้ความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นหนึ่งในหลาย ๆ วิธีในการดึงดูดลูกค้า ซึ่งวิธีการก็มีหลากหลาย ตั้งแต่การระดมทุนหรือการให้การสนับสนุนสำหรับโครงการเพื่อสังคม และสิ่งแวดล้อม

ในทางกลับกันความคิดริเริ่มทางสังคมเหล่านี้ทำให้บริษัทฯ สามารถบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจของพวกเขาผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ช่วยสร้างความเกี่ยวข้องและความผูกพันทางอารมณ์สำหรับ บริษัท เหล่านี้เพื่อทำการตลาดแบรนด์ของพวกเขาอย่างไรก็ตาม การตลาดที่ปราศจากการเข้าอกเข้าใจผู้บริโภคอย่างมีความรู้สึกร่วม นั้นล้าสมัยไปแล้ว และด้วยการเพิ่มขึ้นของข่าวปลอมความถูกต้องในการสื่อสารการตลาดมีความสำคัญในการสร้างปัจจัยความน่าเชื่อถือสูงในผู้บริโภค

9. จงใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมาร์ทโฮม

เมื่อเทคโนโลยียุคใหม่มีการพัฒนามากขึ้น อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านส่วนใหญ่ จะมีการพัฒนาเสริมด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะทำให้อุปกรณ์ทุกชิ้นในบ้าน อาทิ ตู้เย็น มีความชาญฉลาด (Smart Home) สามารถช่วยตรวจสอบพฤติกรรมการบริโภค และช่วยเตือนเจ้าของบ้านโดยอัตโนมัติให้สั่งซื้อสินค้าที่คงเหลือน้อย เทคโนโลยีนี้จะพาเราก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการจับจ่ายซื้อของตามร้านขายของชำแบบดั้งเดิมจะเปลี่ยนไป ด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายแบบบูรณาการโดยตรงกับซัพพลายเออร์ การชำระเงินดิจิทัล และการจัดส่ง รูปแบบการจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคจะเปลี่ยนไป

ด้วยเทคโนโลยี Smart Home ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ   “ปัญญาประดิษฐ์” (AI) ในสมาร์ทโฮมที่มีการจดจำใบหน้าและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)  จะตรวจสอบพฤติกรรมของแต่ละบุคคลและให้ความเป็นส่วนตัวในการใช้ชีวิตที่บ้าน ตั้งแต่การตั้งค่าอุณหภูมิในบ้าน ไปจนถึงแสงไฟบรรยากาศเพื่อความบันเทิง เช่นเพลงส่วนตัวและรายการโทรทัศน์ ดังนั้นนักการตลาดจะต้องเข้าใจเทคโนโลยี Smart Home ที่เกิดขึ้นใหม่และเรียนรู้วิธีการควบคุมเทคโนโลยีนี้เพื่อทำการตลาดผลิตภัณฑ์ของตน

และที่สำคัญที่สุด คือ นักการตลาดจะต้องเข้าใจถึงความสำคัญของการตลาดยุคใหม่ที่เน้นการเชื่อมต่อกับลูกค้าในระดับบุคคล ในยุคนี้ แบรนด์ที่นำเสนอเพียงแค่สินค้าและบริการจะไม่เพียงพออีกต่อไป แต่ความเข้าใจและการให้ความสำคัญกับความรู้สึกของลูกค้าจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ในการตลาดและการทำธุรกิจในภาพรวม


ผู้เขียน
MAT TEAM

สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย

สมัครรับข่าวสาร

logo