Marketing Insight

สรุปเนื้อหาในงาน
Thailand Marketing Day 2025
THE NEXT MARKETING BATTLE
จัดทัพฝ่าสมรภูมิการตลาดยุคใหม่

SHARE

 

ปิดฉากไปอย่างสวยงามกับงาน THAILAND MARKETING DAY 2025 ภายใต้ธีม “THE NEXT MARKETING BATTLE จัดทัพฝ่าสมรภูมิการตลาดยุคใหม่” ที่จัดโดยสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย (Marketing Association of Thailand หรือ MAT) โดยได้รับเกียรติจาก คุณพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขึ้นกล่าวกล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ ฉายภาพความท้าทาย ความพร้อมและมาตรการต่าง ๆ ในการยกระดับเศรษฐกิจไทย รวมถึงประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย ซึ่งเป็นสมาชิกของ กกร. และนายกสมาคมการตลาดที่มาพูดถึงความพร้อมของ 4 เสาหลักที่สำคัญของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนประเทศไทย พร้อมกันนี้ยังยกทัพนักธุรกิจและการตลาดจากหลากหลายอุตสาหกรรมมาเล่าความสำเร็จ การปรับตัว และจุดท้าทายที่ต้องอาศัยทั้งฝีมือกลยุทธ์และนวัตกรรมในการแข่งขัน

          ดร. บุรณิน รัตนสมบัติ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ต้อนรับผู้เข้าร่วมงานและกล่าวว่า “ในปีนี้ภาคการตลาดจะต้องเผชิญกับปัญหาภาวะทางด้านเศรษฐกิจ ความท้าทายกับการบริหารการทำงานระหว่าง Generation รวมไปถึงปัญหาในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ภาคการตลาดจึงมีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยง ดังนั้นเราในฐานะนักการตลาดจะต้องไม่หยุดปรับตัวและเติบโตได้ในทุกสถานการณ์ “ถ้าการตลาดคือส่งคราม หัวใจของสงครามคือลูกค้า” และขอให้ทุกท่านได้รับแรงบันดาลใจจากวิทยากรเพื่อนำไปขับเคลื่อนภาคตลาด พัฒนาประเทศไทยต่อไป”

“Thailand is Ready for the Challenges”
         คุณพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า “ประเทศไทยมีความพร้อมปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อให้ทันต่อตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว รัฐบาลพร้อมสนับสนุนภาคเอกชนและประชาชนร่วมมือกันขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวข้ามผ่านความท้าทายและคว้าโอกาสใหม่ ๆ รัฐบาลมีการเตรียมความพร้อมในเรื่อง Infrastructure เพื่อช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณอินเทอร์เน็ตมาตรฐานสูง การคมนาคมรถไฟรางคู่ที่เชื่อมโยงในประเทศ และรถไฟความเร็วสูงที่รองรับการขยายตัวในระดับภูมิภาคไปยังต่างประเทศ รวมไปถึงมาตรการภาษีและการเงินในรูปแบบดิจิทัลที่จะเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศไทย “เวลาไม่รอใคร ต้องเปลี่ยนแปลง ทำเร็ว คิดเร็ว เพื่อไปให้ไกล เพราะประเทศไทยมีศักยภาพ” นักการตลาดเป็นเหมือนหัวใจและความหวังที่สำคัญของธุรกิจในการนำจุดแข็งของประเทศไทยที่มีไปต่อยอด รัฐบาลพร้อมสนับสนุนในการผลักดันให้ธุรกิจเติบโตและประสบความสำเร็จ”

นอกจากนี้ภายในสัมมนาเน้นเนื้อหาที่ครอบคลุมในทุกมิติโดยมุ่งเน้นการยกระดับเศรษฐกิจไทยด้วยพลังการตลาดและนวัตกรรม กับ 9 หัวข้อสัมมนาเพื่อฉายภาพในธีม “THE NEXT MARKETING BATTLE จัดทัพฝ่าสมรภูมิการตลาดยุคใหม่”

Service Warfare: Winning the Tourism, Care & Wellness Economy through Sustainable Innovation พลิกโฉมวงการท่องเที่ยวและสุขภาพด้วยนวัตกรรมความยั่งยืน

การเสวนาในหัวข้อนี้ ได้รับเกียรติจากแพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่และประธานผู้บริหารอาวุโส กลุ่ม1 บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) คุณมาริสา สุโกศล หนุนภักดี รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มโรงแรมสุโกศล และประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านท่องเที่ยว และดำเนินรายการโดย ดร.ดั่งใจถวิล อนันตชัย Executive Chairman, INTAGE (Thailand)
หัวใจสำคัญของการเสวนานี้อยู่ที่การนำแนวคิด SATI มาใช้เป็นกรอบในการพลิกโฉมวงการท่องเที่ยวและสุขภาพด้วยนวัตกรรมที่ยั่งยืน ดังนี้

  • Sustainable System – ระบบที่ยั่งยืน
  • Adaptive Leadership – ภาวะผู้นำที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
  • Technology Utilization – การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี
  • Inclusive Growth – การเติบโตอย่างมีส่วนร่วม

คุณมาริสา สุโกศล หนุนภักดี ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านท่องเที่ยว และรองประธานกรรมการบริหารกลุ่มโรงแรมในเครือสุโกศล กล่าวถึงความสำคัญของความยั่งยืนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรม โดยชี้ว่า หลังจากวิกฤตโควิด-19 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการโรงแรมทั่วโลกให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจแบบยั่งยืนของภาครัฐหลายประเทศ “การสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมจากภายในองค์กรถือเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนความยั่งยืน” คุณมาริสาเน้นย้ำถึงการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมเพื่อลดต้นทุนโดยไม่ลดคุณค่าและความรู้สึกของผู้ใช้บริการ พร้อมนำเสนอกรอบ SATI ในแบบ Sukosol ซึ่งประกอบด้วย

  • S – Profitable, Professional, Competitive
  • A – Vision & Value, Demand Driven
  • T – Guest Centric, Drive Revenue, Cost Effective
  • I – Authentic, Brand Experience, Go Beyond

แพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่และประธานผู้บริหารอาวุโส กลุ่ม1 บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความมุ่งมั่นของกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลในด้านการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม โดยมุ่งเน้นไปที่ Wellness ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการป้องกันโรค แต่ยังหมายถึงการสร้างสุขภาพที่ดีในทุกมิติของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม หรือจิตวิญญาณ เพื่อให้บุคคลมีคุณภาพชีวิตที่ดี การดูแลสุขภาพแบบ Wellness จึงเป็นมากกว่าการรักษาโรค แต่เป็นการสร้างวิถีชีวิตที่ส่งเสริมสุขภาพในระยะยาว การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการดูแลสุขภาพ นอกจากนี้การมีส่วนร่วมของบุคลากรภายในองค์กร การเปิดโอกาสและอนุญาตให้บุคคลากรได้เข้าใจว่าสามารถทำเรื่องที่ผิดพลาดได้เพื่อพัฒนาและเรียนรู้ จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกทั้งยังให้เกิดความภูมิใจ และความตระหนักรู้ที่เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้องค์กรมีความยั่งยืน

ฟันธงเทรนด์การตลาด 2025
          ดร.สมชาติ วิศิษฐชัยชาญ อุปนายกฝ่ายองค์ความรู้ด้านการตลาดฯ และผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล อุปนายกฝ่ายกิจกรรม การสื่อสารและการตลาดยั่งยืน สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ร่วมรายงานผลสำรวจ “เทรนด์การตลาด 2025: Way Forward” ซึ่งสะท้อนมุมมองและแนวโน้มสำคัญในแวดวงการตลาดไทยปี 2025 โดยรวบรวมข้อมูลจาก MAT CMO COUNCIL เครือข่ายผู้บริหารระดับสูงในองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยการตลาดจำนวน 111 ท่าน โดยวิเคราะห์จากกรอบ 3 คำสำคัญ WHAT HOW และ WHAT NEXT เพื่อช่วยให้องค์กรเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในอนาคต

WHAT: ภาพรวมเศรษฐกิจและปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตลาดไทยในปี 2025

จากผลสำรวจพบว่า 55% ของผู้บริหารมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2025 จะไม่เติบโต และโดยรวมผู้บริหารระดับสูงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเจริญเติบโตเพียง 1.65% ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวน ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในภาพรวมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการตลาดไทยมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่

  • สภาพเศรษฐกิจโลก: ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
  • เทคโนโลยีดิจิทัลและ AI: การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อให้ทันต่อการแข่งขัน
  • ความต้องการของผู้บริโภค: พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง ให้ความสำคัญกับสุขภาพ คุณภาพชีวิต และความยั่งยืนมากขึ้น

ผู้บริหารมองว่า 3 เทรนด์และพฤติกรรมของผู้บริโภคในปี 2568 ที่ธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและเติบโตมีดังนี้
1. สุขภาพ: ผู้บริโภคหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยมองหาผลิตภัณฑ์และบริการที่ส่งเสริมสุขภาพทั้งกายและใจ
2. เทคโนโลยีดิจิทัล: ผู้บริโภคมองหาโดยมองหาผลิตภัณฑ์และบริการที่จะต้องมีความทันสมัย
3. คุณภาพของสินค้าและบริการ: ผู้บริโภคต้องการผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพสูงมีมาตรฐาน และมีความน่าเชื่อถือ

HOW: เราจะจัดการงบและทรัพยากรการตลาดอย่างไร

นอกจากนี้ผู้บริหารถึง 77.6% เห็นว่าปีนี้จะไม่เพิ่มงบประมาณการตลาดในปี 2025 และอีก 0.41% ที่มองว่างบการตลาดอาจลดลง

โดยจะมุ่งเน้นการใช้งบไปในด้าน Content Platform เป็นหลัก ควบคู่ไปกับ Commerce Platform ซึ่งสมาคมฯ เน้นย้ำว่าการใช้งบประมาณการตลาดต้องทำ Content และ Commerce ไปพร้อม ๆ กันเนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคเสพ Content ไปพร้อม ๆ กับการจับจ่ายซื้อสินค้าออนไลน์ผ่าน Commerce Platforms ต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ตามจะต้องคำนึงถึง Data Governance ที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลด้วย

WHAT NEXT: ในปี 2568 อะไรที่จะเกิดขึ้นต่อไป

ส่วนเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอนาคตที่น่าลงทุนมีตามลำดับดังนี้
1. AI (ปัญญาประดิษฐ์): AI จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก ช่วยในการตัดสินใจ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการตลาด การเงิน หรือการผลิต
2. IoT (Internet of Things): อุปกรณ์ต่าง ๆ จะเชื่อมต่อกันผ่านอินเทอร์เน็ต ทำให้เกิดการเก็บรวบรวมข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้
3. Biotechnology: เทคโนโลยีชีวภาพจะถูกนำมาใช้ในการพัฒนายาใหม่ ๆ การผลิตอาหาร และการเกษตร ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาสุขภาพและความมั่นคงทางอาหาร

และอีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจจากการสำรวจคือความสำคัญของ 3P สิ่งที่นักการตลาดและผู้บริหารให้ความสำคัญขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในปี 2025 คือ “Profit” หรือผลกำไร รองลงมาคือ “People” สังคม ชุมชน และลูกค้า ซึ่งลดลงมาจากอันดับ 1 เมื่อปีก่อน และสุดท้ายคือ “Planet” สิ่งแวดล้อม

3 อุตสาหกรรมสำคัญที่ผู้บริหารคาดการณ์ว่าจะกลายเป็น New S-Curve ของประเทศไทย ได้แก่
1. Health and Wellness: การให้ความสำคัญกับสุขภาพจะทำให้เกิดโอกาสทางการตลาดในด้านผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เช่น อาหารเสริม เครื่องมือแพทย์ และการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ
2. Quality Tourism: การตั้งเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน จะสร้างโอกาสทางการตลาดในด้านการท่องเที่ยวอย่างมากโดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
3. Agri and Biotech: การนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ในภาคการเกษตรจะช่วยเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ซึ่งจะสร้างโอกาสทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ด้วยจุดแข็งด้านทรัพยากรธรรมชาติและองค์ความรู้ที่ประเทศไทยมีอยู่ การพัฒนาและต่อยอดในทั้งสามอุตสาหกรรมนี้จะช่วยสร้างภาพลักษณ์เชิงบวก ยกระดับสินค้าและบริการของไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเสริมสร้างเศรษฐกิจในประเทศ

และสำหรับหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในปี 2025 สมาคมฯ ได้สรุปคาถาการตลาดออกมาในแนวคิด “ABCD” ประกอบด้วย
AI: ใช้ปัญญาประดิษฐ์ AI ยกระดับ Customer Experience ผ่านการใช้ปัญญาประดิษฐ์และ Personalized Marketing สร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับลูกค้าและคู่ค้า
Balance: ช้า-เร็ว ระวังหลัง สร้างสมดุลระหว่างความรวดเร็วและความรอบคอบในการดำเนินกลยุทธ์และลงทุนกับการจัดการความเสี่ยง ทั้งนี้ต้องเร็วและอยู่บนความเข้าใจผู้บริโภคอย่างแท้จริง
Clear: ชัดเจน ไม่สะเปะสะปะ วางแผนการใช้งบการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่หว่าน
Data: ชิงชัยด้วยข้อมูล เก็บ วิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีคุณภาพ เพื่อสร้างความผูกพันทางอารมณ์และความรู้สึกกับลูกค้า เพื่อที่ลูกค้าจะได้รู้สึกว่าแบรนด์เข้าใจเขาอย่างแท้จริง

ปีนี้จะเป็น “Year of the Jumping Snake” หรือ “ปีงูกระโดด” การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและพลิกเกมจะเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จในโลกการตลาด
อย่างไรก็ตาม สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยย้ำว่าการตลาดในปี 2025 นั้นไม่ง่าย เพราะต้องการทั้งความยืดหยุ่น ความพร้อมรับมือ ความชัดเจน การปรับตัวอย่างรวดเร็ว แต่ระมัดระวัง เพื่อสร้างความได้เปรียบในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง และธุรกิจที่สามารถผสาน 3P เข้าด้วยกันอย่างสมดุลจึงจะมีโอกาสอยู่รอดและเติบโต

 

How to Conquer the Mega Businesses Battlefield
ตามด้วยการเสวนาที่สำคัญจาก 4 เสาหลักทางเศรษฐกิจและการตลาดที่สำคัญ นำโดย คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คุณธวัชชัย ชีวานนท์ ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย และ ประธานผู้บริหาร Product & Business Solutions ธนาคารกรุงไทย และ ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย พร้อมทั้ง คุณณัฏฐา โกมลวาทิน ผอ.ฝ่ายข่าว The Standard ร่วมเป็นผู้ดำเนินรายการ

คุณสนั่น อังอุบลกุล กล่าวว่า “โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วโดยขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวให้ทัน อีกทั้งประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาสงครามทางการค้า เราต้องแก้ไขปัญหานี้โดยการพัฒนาอุตสาหกรรม สร้างความร่วมมือกับต่างประเทศ และปราบปรามคอร์รัปชัน นอกจากนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดี”

คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการปรับตัวของประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) โดยชี้ให้เห็นว่า “การสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์และแข็งแกร่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก และยังเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ ผู้ประกอบการไทยควรคำนึงถึงการออกแบบและวางตำแหน่งแบรนด์ให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนการลงทุนในด้านวิจัยและพัฒนา ประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การพัฒนานวัตกรรมในด้านนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างรายได้ แต่ยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ในยุคที่ตลาดโลกให้ความสำคัญกับความยั่งยืน การปรับตัวสู่ เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Net Zero) เป็นสิ่งจำเป็น ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงกระบวนการผลิตและการบริหารจัดการที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ตอบโจทย์ทั้งความต้องการของตลาดและแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจไทยสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้คือการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ด้วยการเสริมสร้างทักษะความรู้และความสามารถที่ทันสมัย เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการในเศรษฐกิจยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ส่วนคุณธวัชชัย ชีวานนท์ ได้ชี้ว่า “ปัญหาหลักที่ผู้ประกอบการขนาดกลางในประเทศไทยกำลังเผชิญ นั่นคือ ความไม่พร้อมในการปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และความสามารถในการรับมือกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวที่ไม่ได้เป็นเพียงกระแส แต่เป็นแนวทางที่โลกกำลังมุ่งหน้าไป การปรับตัวในครั้งนี้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต การจัดการทรัพยากร และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการต้องตระหนักว่า การปรับตัวล่าช้าอาจทำให้เสียเปรียบในตลาดโลกและส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนในอนาคต

เทคโนโลยี AI คืออีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากเพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค AI ช่วยให้เราพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ตลาดได้อย่างแม่นยำ”

ปิดท้ายด้วยดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ที่ได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อธุรกิจไทยในปัจจุบัน “การแข่งขันระหว่างสองมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งก่อให้เกิดความผันผวนต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงธุรกิจในทุกระดับ ในยุคปัจจุบัน ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับประสบการณ์และความยั่งยืนมากกว่าการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคมีความซับซ้อนมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้แบรนด์เล็กในประเทศไทยสามารถเข้าถึงตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเติบโตในระดับที่ใหญ่ขึ้นยังคงเป็นความท้าทายสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของการแข่งขันในระดับสากล หน่วยงานภาครัฐจึงต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจ เช่น การให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์ การสนับสนุนทางการเงิน และการสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศ”
ดร.บุรณิน ได้เปรียบเทียบว่า “การทำธุรกิจในเหมือนการทำสงคราม ไม่จำเป็นต้องมีผู้แพ้หรือผู้ชนะเพียงฝ่ายเดียว ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้หากรู้จักวางกลยุทธ์อย่างเหมาะสม เราต้องเลือกตลาดที่เราถนัด ใช้จุดแข็งของเราให้เป็นประโยชน์ และเข้าใจลูกค้าของเราให้ดี นอกจากนี้ การสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งและการทำงานร่วมกันเป็นทีมก็สำคัญมาก เพราะจะช่วยให้เราประสบความสำเร็จได้”

ยุทธวิธีกู้วิกฤต: ปรับทัพ Retail สู้ศึกตัดราคายุค Online-Offline Blur
ในยุคที่เส้นแบ่งช่องทางการขายแบบออนไลน์และออฟไลน์เริ่มเลือนหาย การแข่งขันในตลาดค้าปลีกก็ทวีความรุนแรงขึ้น ธุรกิจต่าง ๆ จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์เพื่อสร้างความแตกต่างและแข่งขันได้ในตลาดที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การเสวนาในหัวข้อ “ปรับทัพ Retail สู้ศึกตัดราคายุค Online-Offline Blur” ได้หยิบยกประเด็นสำคัญนี้มาวิเคราะห์ โดยมีคุณวีรธรรม เสถียรธรรมะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเจ มอร์ จำกัด คุณกุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย และดำเนินรายการโดย คุณบังอร สุวรรณมงคล CEO & Founder Hummingbirds Consulting

คุณวีรธรรม เสถียรธรรมะ เริ่มต้นด้วยการแบ่งปันแนวคิดสำคัญเกี่ยวกับการสร้างความแตกต่างในตลาดค้าปลีก โดยมองว่า ความผิดพลาดในอดีตเป็นโอกาสเรียนรู้ ที่ช่วยเปิดมุมมองใหม่ให้เห็นช่องว่างในตลาดที่สามารถพัฒนาเป็นจุดแข็งได้ “การค้นหาสินค้าหรือบริการที่แตกต่างจากคู่แข่ง โดยคำนึงถึงประสบการณ์ของลูกค้าและคุณค่าที่สินค้ามอบให้ คือหัวใจของความสำเร็จในยุคนี้” โดย CJ More มุ่งเน้นการสร้างมาตรฐานสินค้าที่ดีและตั้งราคาที่สามารถแข่งขันได้ทำให้สามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ แม้ธุรกิจของ CJ More จะเน้นการดำเนินงานในช่องทางออฟไลน์ แต่การเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างลึกซึ้งผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยวางกลยุทธ์การตลาดที่ตรงเป้าหมาย และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทำให้ธุรกิจค้าปลีกสามารถปรับตัวและเติบโตอย่างยั่งยืนในยุคที่โลกออนไลน์และออฟไลน์หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว

ในอีกมุมหนึ่ง คุณกุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ เน้นไปที่ Live Commerce ซึ่งกำลังเป็นกระแสที่เติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศไทย โดยมีผู้ประกอบการกว่า 9 ล้านรายเข้ามาใช้ประโยชน์จากช่องทางนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายย่อย แบรนด์ดัง หรืออินฟลูเอนเซอร์ ทุกกลุ่มต่างมองเห็นศักยภาพของ Live Commerce ในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและเพิ่มยอดขายได้อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอินฟลูเอนเซอร์ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าและบริการ เพราะผู้ชมมักจะตัดสินใจซื้อตามคำแนะนำของคนที่ตนเองชื่นชอบ
ผู้ประกอบการไทยต้องมีความพร้อมและปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและ e-commerce หรือหาพันธมิตรทางธุรกิจที่สามารถช่วยสนับสนุนด้านการตลาด การขาย หรือการจัดจำหน่ายสินค้าทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างให้ผู้ประกอบการไทยมีความเข้มแข็ง

ทางรอดของธุรกิจนอกจาก Sustainable แล้วต้อง Regenerative
หัวข้อการเสวนา “Survival Mandate: Regenerative Marketing as the Only Path Forward ทางรอดของธุรกิจนอกจาก Sustainable แล้วต้อง Regenerative” มุ่งเน้นแนวคิดการตลาดเชิงฟื้นฟู (Regenerative Marketing) ซึ่งเป็นมากกว่าความยั่งยืน (Sustainability) โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่านมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง นำโดย ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) คุณวชิระชัย คูนำวัฒนา Net Zero Accelerator Director บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล อุปนายกฝ่ายกิจกรรม การสื่อสาร และการตลาดยั่งยืน สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย

ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ อธิบายว่า “แนวคิด Regenerative คือการฟื้นฟูและสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ให้ดีกว่าเดิมโดยเฉพาะในด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ได้มุ่งเพียงแค่ลดผลกระทบเชิงลบแต่ยังเน้นการสร้างผลกระทบเชิงบวก สำหรับธุรกิจ เราให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยคาร์บอนในทุกมิติ เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงานสะอาดรวมถึงการสร้างชุมชนที่สนับสนุนการแบ่งปันทรัพยากร โดยแทนที่จะทิ้งวัสดุเหลือใช้ เราสามารถนำมาแลกเปลี่ยนหรือรีไซเคิลเพื่อใช้งานใหม่ได้ เป้าหมายสำคัญ คือการเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างสังคมที่ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งผลักดันการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว”

คุณวชิระชัย คูนำวัฒนา กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้การทำธุรกิจที่ยั่งยืนเป็นเรื่องที่ดี แต่ปัจจุบันกลายเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากโลกกำลังเปลี่ยนแปลง กฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนกำลังเข้ามา เช่น การติดป้ายคาร์บอน (carbon tag) หรือกลไกปรับคาร์บอนชายแดน (CBAM) ซึ่งจะมีผลกระทบต่อธุรกิจโดยตรง การทำ Regenerative Marketing ไม่เพียงแต่ต้องหลีกเลี่ยงการทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ยังต้องช่วยฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับมาดีขึ้น เช่น การปลูกป่าและการลดขยะ การทำธุรกิจในลักษณะนี้เป็นการลงทุนระยะยาวที่ช่วยรักษาโลกเพื่อให้ลูกหลานของเรามีโลกที่ดี แนวคิด Regenerative นี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือประชาชน การแบ่งปันประสบการณ์และข้อมูลตลอดกระบวนการจะช่วยให้เราสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ซอฟต์พาวเวอร์แบบใด…พาไทยบุกตลาดโลก
การเสวนาในหัวข้อ “Creative Nation: Thai Entertainment – Soft Power that Makes Thailand in Focus: ซอฟต์พาวเวอร์แบบใด…พาไทยบุกตลาดโลก” ได้สะท้อนมุมมองจากธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ที่ถือว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันไทยเข้าสู่ตลาดโลก โดยการเสวนามีผู้ร่วมอภิปราย ได้แก่ คุณภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน) คุณรณัสถ์ ศรีรุ่งเรืองเดชา Head of Marketing, Netflix Thailand โดยมีคุณชาคริต ดิเรกวัฒนชัย เลขาธิการสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย และรองกรรมการผู้อำนวยการ สำนักกิจการและสื่อสารองค์กร บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินรายการ

คุณภาวิต จิตรกร กล่าวว่า “อุตสาหกรรมบันเทิงต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ดิจิทัลสตรีมมิ่งกลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมเพลงผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น YouTube Spotify และ Apple Music การสมัครสมาชิกและการโฆษณามีบทบาทสำคัญในการสร้างโอกาสหารายได้ใหม่ แม้ว่าอุตสาหกรรมเพลงจะเติบโต แต่การแข่งขันก็มีความรุนแรงมาก การปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ ๆ การสร้างเนื้อหาที่มีคุณภาพ และการปกป้องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เป็นปัจจัยที่สำคัญในการทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเพลงประสบความสำเร็จ

การส่งเสริมอุตสาหกรรมเพลงและความบันเทิงเพื่อเป็น Soft Power ของประเทศควรคำนึงถึงบุคคลเบื้องหลังที่สร้างสรรค์ผลงานคุณภาพ ซึ่งเกิดจากการลงทุนและความพยายามอย่างต่อเนื่องของทีมงานเบื้องหลัง รัฐบาลควรให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างจริงจัง ไม่เพียงแค่การลดหย่อนภาษี แต่ควรสร้างโอกาสให้บุคลากรในวงการได้พัฒนาศักยภาพในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศในระดับสากล

Core value หรือแก่นแท้ของธุรกิจเป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจแตกต่างและยั่งยืน การเข้าใจและยึดมั่นใน core value จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคง ธุรกิจเหมือนพระอาทิตย์ที่มีช่วงเวลารุ่งเรืองและตกต่ำ การหาโอกาสใหม่ ๆ เป็นกุญแจสำคัญในการทำให้ธุรกิจอยู่รอด”

คุณรณัสถ์ ศรีรุ่งเรืองเดชา จาก Netflix กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคคอนเทนต์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยผู้ชมต้องการความยืดหยุ่นในการรับชมมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยสามารถใช้พัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงให้ก้าวหน้ามากขึ้น Netflix จึงมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่หลากหลาย ทั้งในแง่ภาษาและรูปแบบ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ชมทั่วโลก

“เราให้ความสำคัญกับการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างละเอียด เพื่อที่จะสร้างคอนเทนต์ที่ตรงใจผู้ชมและมอบประสบการณ์การรับชมที่ดีที่สุด ประเทศไทยมีซอฟต์พาวเวอร์ที่มีมาตั้งแต่เดิม และ Netflix ได้ใช้จุดแข็งนี้ในการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยสู่สายตาชาวโลกผ่านแพลตฟอร์มที่เข้าถึงง่ายและมีคุณภาพ ในด้านการเปลี่ยนแปลงหรือ disruption ซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลา การปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ”

“ไม่เจ๋งก็เจ๊ง” วัดใจแม่ทัพคนรุ่นใหม่ ปั้นแบรนด์ยังให้ปัง
เสวนาในหัวข้อ “Victory or Death” : Motto of Modern Entrepreneurial Generals “ไม่เจ๋งก็เจ๊ง” วัดใจแม่ทัพคนรุ่นใหม่ ปั้นแบรนด์ยังให้ปัง” เปิดมุมมองใหม่ในเรื่องของการสร้างแบรนด์และการตัดสินใจในภาวะการแข่งขันที่สูง โดยเน้นการแสดงวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ในการเติบโตธุรกิจในยุคที่เต็มไปด้วยความท้าทายนำเสนอโดยผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจ ได้แก่ คุณกัญญฉัชณ์ เลิศธนไพบูลย์ Founder and CEO ของแบรนด์ Her Hyness คุณทนงค์ศักดิ์ แซ่เอี้ยว Founder & CEO ของแบรนด์ Yuedpao (ยืดเปล่า) คุณธัญย์ณภัคช์ ศิริประกาเจริญ Founder & CEO ของแบรนด์ Karun และดำเนินการเสวนาโดย คุณเมธี จารุมณีโรจน์ Asia Marketing Director, Croda Co., Ltd.

คุณกัญญฉัชณ์ เลิศธนไพบูลย์ แชร์ประสบการณ์ที่ทำให้แบรนด์ Her Hyness ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน โดยเน้นการเข้าใจอุตสาหกรรมเครื่องสำอางจากประสบการณ์จริง ทำให้เห็นโอกาสในการพัฒนาแบรนด์ที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าในกลุ่มเฉพาะได้ดีกว่าแบรนด์ใหญ่ ๆ

จุดเริ่มต้นของแบรนด์คือการตั้งเป้าหมายในการสร้างสกินแคร์ที่มีคุณภาพสูง ซึ่งไม่เพียงแต่ดูแลผิวพรรณของลูกค้าแต่ยังมอบความรู้สึกที่ดีและมีบรรจุภัณฑ์หรูหรา เพื่อสร้างความพึงพอใจและความผูกพันกับลูกค้าในระยะยาว คุณกัญญฉัชณ์เชื่อว่า การสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าคือกุญแจสำคัญในการเติบโตอย่างยั่งยืนของแบรนด์

นอกจากนี้การพัฒนาศักยภาพของพนักงานและการปรับปรุงระบบภายในองค์กรยังเป็นสิ่งสำคัญ เพราะไม่มีธุรกิจใดที่จะประสบความสำเร็จได้โดยไม่พัฒนา การทำธุรกิจก็เหมือนการเดินทางผจญภัยที่ต้องเรียนรู้และบริหารจัดการอารมณ์ ความคิด การแข่งขันที่แท้จริงคือการพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นทุกวัน

คุณทนงค์ศักดิ์ แซ่เอี้ยว เจ้าของแบรนด์ “ยืดเปล่า” เล่าว่าเริ่มต้นธุรกิจจากการลองผิดลองถูกและเรียนรู้จากเสียงของลูกค้าเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายในการสร้างแบรนด์ที่เป็นมิตรและเข้าถึงง่ายซึ่งสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ทุกคน การสื่อสารที่สร้างสรรค์และแตกต่างเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้แบรนด์เป็นที่จดจำในใจลูกค้า

เมื่อธุรกิจเริ่มขยายตัว การวางแผนระบบการทำงานให้มีระเบียบและการค้นหาช่องทางการตลาดใหม่ ๆ อยู่เสมอ นอกจากนี้ การเรียนรู้จากความผิดพลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่ง การเริ่มต้นธุรกิจด้วยต้นทุนต่ำมากทำให้ต้องเรียนรู้ทุกอย่างและควบคุมต้นทุนอย่างรอบคอบ โดยการทำงานอย่างอดทนและต่อเนื่องเป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ

ปิดท้ายด้วย คุณธัญย์ณภัคช์ ศิริประกาเจริญ เจ้าของแบนด์ Karun ที่ร่วมแชร์ประสบการณ์ว่า “ธุรกิจของเราเกิดจากความตั้งใจที่จะสืบทอดสูตรชาไทยลับเฉพาะจากคุณแม่ วัตถุดิบคุณภาพสูงและกรรมวิธีการผลิตที่พิถีพิถันทำให้ชาไทยของเรามีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์และแตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ เราเล็งเห็นถึงช่องว่างในตลาด และต้องการสร้างสรรค์ชาของเราให้เป็นมากกว่าแค่เครื่องดื่ม ดึงดูดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ชัดเจน
ในยุคที่ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากมาย รสชาติที่อร่อยเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ เราจำเป็นต้องสร้าง “ประสบการณ์” ที่น่าจดจำให้กับลูกค้า ตั้งแต่บรรยากาศร้าน การออกแบบแก้ว การเลือกใช้สี ไปจนถึงการเลือกเพลงประกอบร้าน ทุกอย่างล้วนส่งผลต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์และความรู้สึกของลูกค้า การวางแผนธุรกิจที่ครอบคลุมจะช่วยให้เราประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว เพราะเราจะรู้ว่าต้องการอะไรและจะไปในทิศทางใดความสำเร็จไม่ใช่เรื่องของโชคช่วย แต่เป็นผลมาจากการวางแผนและการลงมือทำ สิ่งที่คิดว่าเป็นเวทมนตร์ที่ทำให้เราประสบความสำเร็จคือการค้นคว้าวิจัย ความสำเร็จที่ยั่งยืนเกิดจากการลงทุนในความรู้”

ทั้งหมดนี้คือเนื้อหาสำคัญจากงาน “THAILAND MARKETING DAY 2025 – THE NEXT MARKETING BATTLE” สุดยอดฟอรั่มการตลาดแห่งปีซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักการตลาดและผู้ประกอบการฝ่าวิกฤตในยุคการแข่งขันสูง พฤติกรรมผู้บริโภค และสภาพเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงแบบพลิกผัน และรับมือทุกความท้าทายในปี 2025


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย
คุณจิราภรณ์ พึ่งสัตย์
รองผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด – กิจกรรมและการสื่อสาร
โทร. 099-242-5244

Tags:

ผู้เขียน
MAT TEAM

สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย

สมัครรับข่าวสาร

logo