10 เทรนด์การตลาด 2025 จากสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย (MAT)
เทรนด์ที่ 1 – การสร้างประสบการณ์เฉพาะบุคคลด้วย AI: ยกระดับการสร้างความผูกพันกับลูกค้า
การใช้ AI ในการสร้างประสบการณ์เฉพาะบุคคลมาแรงสำหรับเทรนด์การตลาดในปี 2025 ธุรกิจในประเทศไทยกำลังนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้เพื่อมอบประสบการณ์ที่เฉพาะเจาะจงและน่าประทับใจยิ่งขึ้นให้กับผู้บริโภค นวัตกรรม AI อย่างผู้ช่วยชอปปิงเสมือนจริง แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแบบไดนามิก และตู้อัจฉริยะ (smart kiosk) เป็นเรื่องปกติไปแล้ว ตู้สั่งอาหารดิจิทัลในร้านอาหารบริการด่วนแนะนำเซ็ตอาหารที่ปรับแต่งตามประวัติการสั่งซื้อ และยังปรับการแสดงเมนูแบบเรียลไทม์โดยพิจารณาจากอาหารตามพิกัดใกล้เคียง เวลาของวัน หรือสภาพอากาศ เช่น การแสดงสินค้าเครื่องดื่มเย็นช่วงอากาศร้อนจัดทำให้ผู้บริโภคไม่เพียงแต่ได้ประสบการณ์ที่เฉพาะตัวแต่ยังน่าจดจำ การวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ในธุรกิจค้าปลีกและความบันเทิงก็กำลังเติบโต ช่วยให้ธุรกิจประเมินพฤติกรรมผู้บริโภคและส่งโปรโมชั่นเหมาะสำหรับแต่ละบุคคลในจังหวะที่เหมาะสม เช่นเดียวกับแชตบอตในธุรกิจความงามที่ใช้ AI แนะนำผลิตภัณฑ์ที่โดนใจ ทำให้การชอปปิงสะดวกเกว่าเดิมจึงสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าที่เหนียวแน่นขึ้น เทรนด์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า AI กำลังปฏิวัติการตลาด สร้างประสบการณ์ที่ราบรื่นและน่าประทับใจที่เชื่อมโยงแบรนด์กับผู้บริโภคได้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
เทรนด์ที่ 2 – AI และระบบอัตโนมัติในการทำการตลาดเพื่อความเป็นเลิศในการดำเนินงาน
ภายในปี 2025 AI และระบบอัตโนมัติจะยังคงยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานด้านการตลาดในประเทศไทย ช่วยให้แบรนด์ต่าง ๆ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มการมีส่วนร่วมกับลูกค้า Generative AI จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างคอนเทนต์อัตโนมัติ จัดการข้อความเฉพาะบุคคลได้ในปริมาณมาก และปรับแต่งแคมเปญโฆษณา นักการตลาดจะใช้ AI ในการคาดการณ์พฤติกรรมลูกค้า ปรับกลยุทธ์ดิจิทัลแบบเรียลไทม์ และยกระดับการบริการลูกค้าผ่านแชตบอตที่ขับเคลื่อนด้วย AI การเปลี่ยนไปใช้ระบบอัตโนมัติจะไม่เพียงแต่เพิ่มประสิทธิภาพการตลาด แต่ยังช่วยให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าที่เป็นส่วนตัวและมีประสิทธิผลมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่ม ROI และช่วยให้ความภักดีต่อแบรนด์แข็งแกร่งขึ้นในที่สุด
เทรนด์ที่ 3 – Social Commerce: จุดบรรจบระหว่างโซเชียลมีเดียและการชอปปิง
Social commerce ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการชอปปิงในประเทศไทย แพลตฟอร์มอย่าง TikTok และ Instagram กลายเป็นระบบนิเวศอีคอมเมิร์ซที่แข็งแกร่ง แบรนด์ต่าง ๆ ใช้ประโยชน์จากฟีเจอร์ เช่น การไลฟ์ขายสินค้าและโพสต์ที่กดสินค้าใส่ตะกร้าได้ทันที เพื่อสร้างประสบการณ์การชอปปิงแบบคุยโต้ตอบกันได้แบบเรียลไทม์ ตัวอย่างเช่น ร้านค้าด้านความงามและแฟชั่นร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์จัดการสาธิตสินค้าสด โดยผู้ชมสามารถซื้อสินค้าพร้อมร่วมถาม-ตอบได้ทันที เทรนด์นี้เอื้อประโยชน์อย่างมากสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและคนขายงานฝีมือที่อยู่ในภูมิภาคอื่น ๆ ช่วยให้เข้าถึงผู้ชมทั่วประเทศได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่าการโฆษณาแบบดั้งเดิมมาก ผู้บริโภคชาวไทยที่ให้คุณค่ากับการมีปฏิสัมพันธ์แบบส่วนตัวได้รับประโยชน์จากประสบการณ์การชอปปิงที่โปร่งใสและสะดวกสบาย ในขณะที่ธุรกิจก็ใช้ข้อมูลเชิงลึกในการปรับปรุงกลยุทธ์ การผสมผสานระหว่างความบันเทิงและอีคอมเมิร์ซกำลังเปลี่ยนโฉมตลาดดิจิทัลในประเทศไทย เปลี่ยนแพลตฟอร์มโซเชียลให้กลายเป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ทรงพลัง
เทรนด์ที่ 4 – ความยั่งยืนเป็นแก่นของกลยุทธ์แบรนด์
ในปี 2025 ความยั่งยืนจะกลายเป็นศูนย์กลางของกลยุทธ์แบรนด์ในประเทศไทยมากขึ้น ธุรกิจจะหันมาใช้วัสดุรีไซเคิลและแนวปฏิบัติด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น ลดการใช้พลาสติกบริสุทธิ์ เทรนด์นี้กำลังได้รับความนิยม บริษัทจำนวนมากมุ่งมั่นจะใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล 100% ในขณะเดียวกัน หลักการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) จะยังคงมีความสำคัญเพิ่มขึ้น แบรนด์จะมุ่งเน้นการลดการปล่อยคาร์บอน การอนุรักษ์น้ำและสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพ เกิดความร่วมมือที่มุ่งปรับปรุงการรีไซเคิลและประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และช่วยให้ผู้บริโภคเลือกแบรนด์ที่ส่งเสริมความยั่งยืน ความยั่งยืนกำลังเปลี่ยนจากความกังวลในคนกลุ่มเล็ก ๆ ไปสู่องค์ประกอบหลักของการตลาด ซึ่งจะส่งผลต่อความภักดีของผู้บริโภคและความสำเร็จของแบรนด์ในระยะยาว
เทรนด์ที่ 5 – โมเดลการบอกรับสมาชิก: อนาคตของการสร้างความรักในแบรนด์
บริการแบบบอกรับสมาชิกได้รับความชื่นชอบอย่างมากในประเทศไทย โดยมีแรงขับเคลื่อนจากความต้องการความสะดวกสบายและการปรับแต่งให้เป็นส่วนตัว แพลตฟอร์มดิจิทัลนำเสนอการสมัครสมาชิกพร้อมสิทธิพิเศษ เช่น การจัดส่งฟรี ดีลพิเศษ และข้อเสนอเฉพาะบุคคล ตัวอย่างเช่น บริการส่งอาหารได้เปิดตัวแผนบอกรับสมาชิกที่มีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมอย่างการจัดส่งฟรีและส่วนลด ซึ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคในเมืองที่มีชีวิตเร่งรีบและให้คุณค่ากับความสะดวกสบาย เช่นเดียวกับแพลตฟอร์มด้านสุขภาพและความงามที่เสนอดีลและการดูแลรักษาผิวพรรณร่างกายเฉพาะบุคคลอย่างต่อเนื่องทำให้รักษาฐานลูกค้าได้ดีขึ้น ด้วยความนิยมที่เพิ่มขึ้นในใจกลางเมืองอย่างกรุงเทพฯ โมเดลบอกรับสมาชิกจึงช่วยสร้างความภักดีของลูกค้าที่ลึกซึ้งขึ้นด้วยการมอบประสบการณ์ที่มีความสม่ำเสมอและคุ้มค่า ธุรกิจที่เข้าถึงเทรนด์เหล่านี้ไม่เพียงแต่สามารถสร้างรายได้ที่คาดการณ์ได้ แต่ยังสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับลูกค้าอีกด้วย
เทรนด์ที่ 6 – การตลาดแบบแฟนคลับ: เปลี่ยนความหลงใหลเป็นความภักดีต่อแบรนด์
การตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยแฟนคลับได้รับความนิยมในประเทศไทยมาระยะหนึ่งแต่ยังคงเติบโตด้วยดี แบรนด์ต่างๆ ใช้พลังของชุมชนแฟนคลับที่รักในตัวศิลปินในการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมและความภักดี แฟน ๆ กลายเป็นกระบอกเสียงให้แบรนด์ที่พวกเขาชื่นชอบมากขึ้น ธุรกิจบันเทิง เกม และไลฟ์สไตล์กำลังทำการตลาดกับชุมชนเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น แบรนด์อีสปอร์ตจัดการแข่งขันพิเศษและเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับแฟนคลับ ในขณะที่แบรนด์ความบันเทิงนำเสนอสินค้ารุ่นพิเศษที่มีจำนวนจำกัดและประสบการณ์เฉพาะแฟนคลับตัวยงเท่านั้น เทรนด์นี้ได้ขยายไปสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นและความงาม การออกคอลเลกชันที่อิงแฟนคลับและประสบการณ์สำหรับแฟนคลับแต่ละกลุ่มทำให้ความสัมพันธ์กับลูกค้าเหนียวแน่นขึ้น เมื่อแพลตฟอร์มดิจิทัลเติบโต แฟนคลับก็สร้างคอนเทนต์ที่ป่าวประกาศสิ่งที่แบรนด์อยากสื่อกันขึ้นมาเอง วิวัฒนาการของการตลาดแฟนคลับนี้ทำให้แบรนด์มีโอกาสเชื่อมโยงกับผู้บริโภคอย่างมีความหมาย ส่งเสริมการเป็นผู้สนับสนุนแบรนด์และความภักดีในระยะยาว
เทรนด์ที่ 7 – การเสริมพลังด้วยไมโครอินฟลูเอนเซอร์: ความจริงใจและการพูดถึงในวงกว้าง
เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยครีเอเตอร์มีแนวโน้มที่จะดังเปรี้ยงปร้างในประเทศไทยภายในปี 2025 โดยมีไมโครอินฟลูเอนเซอร์เป็นตัวละครสำคัญในการทำการตลาด เมื่อแพลตฟอร์มดิจิทัลเสริมพลังให้คนสร้างคอนเทนต์ได้ แบรนด์ต่าง ๆ ก็เริ่มทำงานกับไมโครอินฟลูเอนเซอร์ซึ่งเป็นคนทั่วไปที่สร้างบทสนทนาที่จริงใจและเข้าถึงได้กับผู้ติดตามของตัวเอง แม้อินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้จะมีผู้ติดตามน้อยที่สุดเพียง 10,000 คน แต่มักจะสร้างอัตราการกดลิงก์หรือซื้อสินค้าที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับเซเล็บแบบดั้งเดิม เนื่องจากความไว้วางใจที่พวกเขาสร้างขึ้นในชุมชนเฉพาะกลุ่ม แบรนด์จะยังคงสื่อสารกับชุมชนครีเอเตอร์ ร่วมมือกับบุคคลที่มีค่านิยมสอดคล้องกันและเข้าถึงเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม เราคาดว่าจะได้เห็นแคมเปญที่เน้นไมโครครีเอเตอร์มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นวงการความงาม ไลฟ์สไตล์ หรือเทคโนโลยี ช่วยวางรากฐานการมีส่วนร่วมแบบส่วนตัวที่นำไปสู่การตลาดแบบปากต่อปาก
เทรนด์ที่ 8 – ประสบการณ์ลูกค้าแบบไร้รอยต่อผ่านอุปกรณ์สั่งงานด้วยเสียงและสมาร์ทดีไวซ์
เพราะการค้นหาด้วยเสียงและสมาร์ทดีไวซ์ที่มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น แบรนด์ในประเทศไทยจึงจำเป็นต้องผสานเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ากับกลยุทธ์การตลาด ประสบการณ์ลูกค้าแบบรวมศูนย์ข้ามแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้สามารถโต้ตอบกับบริการผ่านอุปกรณ์สั่งงานด้วยเสียงได้อย่างราบรื่นจะเป็นเทรนด์สำคัญภายในปี 2025 รวมถึงโปรแกรมสานสัมพันธ์กับลูกค้าข้ามแพลตฟอร์ม บริการทางการเงินแบบบูรณาการ และการเข้าถึงบริการหลากหลายผ่านซูเปอร์แอป ผู้บริโภคจะคาดหวังการถามตอบที่ไม่ยุ่งยาก ไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อสินค้า ชำระเงิน หรือตรวจสอบคะแนนสะสม ทั้งหมดต้องทำได้ผ่านคำสั่งเสียง แบรนด์ที่รวมบริการเหล่านี้ได้แบบครบวงจรจะสร้างประสบการณ์ที่ไร้รอยต่อและเป็นส่วนตัวมากขึ้น เสริมสร้างความภักดีของลูกค้าในไทยที่คุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยี
เทรนด์ที่ 9 – การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมและการฝึกสติในการสร้างแบรนด์: ก้าวข้ามจากแค่สุขภาพกาย
การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมและการฝึกสติกลายเป็นองค์ประกอบหลักของการสร้างแบรนด์ในประเทศไทย ธุรกิจต่าง ๆ ปรับผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต แบรนด์กำลังเปลี่ยนจากการมุ่งเน้นเฉพาะสุขภาพกายไปสู่การส่งเสริมสุขภาวะแบบองค์รวม ซึ่งรวมถึงสุขภาพจิตและการฝึกสติ แบรนด์สุขภาพและความงามทำการตลาดเรื่องการผ่อนคลายความเครียด การดูแลตัวเอง และการฝึกสติให้เป็นส่วนหนึ่งของประโยชน์สินค้าและบริการ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ผสมผสานการฟื้นฟูร่างกายและการผ่อนคลายจิตใจก็เติบโตขึ้นเช่นกัน เทรนด์นี้สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างสู่การผสานสุขภาพกายและใจเข้าด้วยกัน สร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้แบรนด์ได้เชื่อมโยงกับผู้บริโภคที่กำลังมองหาความสมดุลและสุขภาวะในชีวิตประจำวัน
เทรนด์ที่ 10 – ประสบการณ์แบบสมจริงด้วย AR/VR: ปฏิวัติการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภค
ภายในปี 2025 เทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง (Augmented Reality หรือ AR) และความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality หรือ VR) จะเปิดประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้บริโภคในประเทศไทย นับเป็นวิธีการที่สร้างสรรค์ให้แบรนด์ได้มีส่วนร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย แม้ว่า AR และ VR จะได้รับความนิยมในธุรกิจค้าปลีกและความบันเทิงมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ศักยภาพที่แท้จริงเพิ่งเริ่มขยายวง ธุรกิจในวงการแฟชั่น การท่องเที่ยว และอีคอมเมิร์ซจะใช้ AR สำหรับการลองสินค้าเสมือนจริง การชอปปิงแบบถามตอบได้ทันที และการแสดงสินค้าแบบปรับเปลี่ยนตามพฤติกรรมของผู้ซื้อ ในขณะเดียวกัน VR จะช่วยให้แบรนด์สร้างประสบการณ์แบบสมจริง ตั้งแต่ทัวร์ท่องเที่ยวเสมือนจริงไปจนถึงอีเวนต์พิเศษสำหรับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เมื่อผู้บริโภคมองหาการปฏิสัมพันธ์ที่ปรับแต่งเฉพาะบุคคลและน่าจดจำมากขึ้น การผสานเทคโนโลยี AR และ VR เข้ากับกลยุทธ์การตลาดจะเป็นตัวพลิกเกม เพิ่มความภักดีของลูกค้าและการมีส่วนร่วมในตลาดที่ไม่หยุดนิ่งของประเทศไทย
ขอขอบคุณสำหรับการเผยแพร่ข่าวและหากต้องการขอข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย โทร 02 – 679 7360 – 3
หรือ จิราภรณ์ พึ่งสัตย์ (จิ๊บ) 099 242 5244