เมื่อ 5 ปีที่แล้ว คงไม่มีใครคิดว่าเราสามารถใช้ชีวิตได้ทั้งวันกับสมาร์ตโฟนเครื่องเดียว ตั้งแต่ตั้งนาฬิกาปลุกไปทำงาน เช็กอีเมล เรียกรถแท็กซี่ สั่งอาหารเที่ยง สั่งเครื่องดื่มและขนม ซื้อของสดของแห้งจากซูเปอร์มาร์เก็ต ชำระบิลต่างๆ โอนเงินค่าผ่อนบ้าน ค่าเล่าเรียนลูก ประชุมกับลูกค้าต่างประเทศ และเรียกรถกลับบ้านเมื่อหมดวัน
ผู้คนต่างอยู่ในโหมดประหยัดพลังงาน เคลื่อนไหวร่างกายน้อยมาก ยกเว้นนิ้วที่ใช้กดสมาร์ตโฟน เมื่อทุกอย่างสามารถทำได้ด้วยปลายนิ้ว ความคาดหวังในเรื่องความสะดวกสบายและความรวดเร็ว จึงเพิ่มขึ้นตามลำดับ จนถึงในยุคที่เราเรียกว่า Lazy Economy หรือเศรษฐกิจขี้เกียจ
จากข้อมูลของ GET ในปีที่ผ่านมา เคยมีออเดอร์สั่งชานมไข่มุกมากกว่า 3 แสนแก้ว ในหนึ่งเดือน และมียอดสั่งอาหารว่างตลอดทั้งวัน ตั้งแต่มื้อเช้า เที่ยง บ่าย และมื้อค่ำ และบางครั้งการสั่งซื้อก็อยู่ในระยะทางน้อยกว่า 1 กิโลเมตร ซึ่งแปลว่าคนสั่งจากร้านที่อยู่ใต้ตึกหรือตึกข้างๆ ให้มาส่งที่ทำงาน what a lazy life!
บริษัท อินเทจ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำการสอบถามผู้บริโภคทั้งหญิงและชายรวม 600 คน ในกรุงเทพฯ เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ ไม่น่าแปลกใจว่า Gen Y ซึ่งเป็นหนุ่มสาวออฟฟิศ จะมีการใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่มากขึ้นกว่า Gen อื่นๆ ในขณะที่ Gen X มีแนวโน้มที่จะใช้น้อยลง
ทั้ง 3 Gen เชื่อว่าเหตุผลหลักที่บริการฟู้ดเดลิเวอรี่เป็นที่นิยมมากขึ้น เป็นเพราะ คนขี้เกียจเดินทาง และยอมจ่ายเพื่อเอาเวลาไปทำอย่างอื่น
นอกจากนี้ Gen X และ Gen Y ยังเชื่อว่าบริการนี้เหมาะสำหรับคนในเมืองที่มีชีวิตเร่งรีบ ในขณะที่ Gen Z มองว่าเป็นบริการสำหรับคนขี้เกียจรอ มากกว่า Gen อื่น
เมื่อพูดถึงผลกระทบจากการเติบโตของธุรกิจนี้ น่าสนใจที่ Gen Z มีแนวโน้มจะให้ความสำคัญกับมลภาวะที่เกิดจากทั้งขยะภาชนะ และมลภาวะทางอากาศ สมกับที่เป็น Eco-Shame Gen
ผลการวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า นอกจากแบรนด์จะเห็นโอกาสทางการตลาดในยุค Lazy Economy แล้ว แบรนด์จะต้องคำนึงถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมด้วย แบรนด์ที่เริ่มคิดก่อน ทำก่อน ย่อมได้ส่วนแบ่งทางใจจาก Young Generation แน่นอน เพราะพวกเขาเป็น ‘Action Gen’ ที่จะผลักดันทำให้แบรนด์ต้องคำนึงถึง P Planet ให้มากพอๆ กับ P Profit
Source of Image:
Credit Header image: https://kaboompics.com/photo/6981/blue-pillows-on-a-carpet