Marketing Insight

10 เทรนด์การตลาดแห่งเอเชีย ประจำปี 2563

70
SHARE

สหพันธ์การตลาดแห่งเอเชีย Asia Marketing Federation (AMF) และสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย จัดทำรายงานพิเศษหัวข้อ “10 เทรนด์การตลาดแห่งเอเชีย ประจำปี 2563” รายงานฉบับนี้เป็นการจับความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงของการตลาดในภูมิภาค ผนวกกับการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญของสมาคมการตลาดจากประเทศสมาชิกในเอเชีย

สหพันธ์การตลาดแห่งเอเชีย Asia Marketing Federation (AMF) เป็นองค์กรระดับภูมิภาคและเป็นเครือข่ายของสมาคมการตลาดในเอเชีย ที่มีภารกิจสำคัญในการมุ่งพัฒนาเครือข่ายให้เข้มแข็งและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาคมการตลาดในแถบภูมิภาคเอเชีย อันจะนำมาซึ่งประโยชน์ในการพัฒนาธุรกิจ เศรษฐกิจ และสังคมในประเทศสมาชิกจำนวน 17 สมาคมจาก ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง มาเก๊า สิงคโปร์ ไต้หวัน มองโกเลีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย พม่า กัมพูชา เวียดนาม ศรีลังกา และ บังคลาเทศ

10 เทรนด์การตลาดแห่งเอเชีย ประจำปี 2563

1. Voice Search Optimization: เทรนด์การค้นหาด้วยเสียง
เมื่อเทคโนโลยี และ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การจดจำเสียงได้รับความแม่นยำมากขึ้น และมีการตอบสนองอย่างชาญฉลาด ส่งผลให้เทรนด์การค้นหาด้วยเสียงเป็นหนึ่งเทรนด์ที่มาแรงในยุคนี้

ผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการความสะดวกสบายรวดเร็วทันใจ พวกเขาแสวงหาทางเลือกใหม่ๆ ในการใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฟน เทรนด์การค้นหาด้วยเสียงแทนการพิมพ์ข้อความค้นหาแบบเดิมๆ จึงได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้ก้าวไกลและแม่นยำมากขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นได้จากบริษัทยักษ์ใหญ่หลายรายที่ให้ความสำคัญกับสมาร์ทเทคโนโลยีนี้ อาทิเช่น ระบบสั่งการด้วยเสียงอัจฉริยะของ Apple Smartphone, ระบบให้ความช่วยเหลือผ่านการสั่งการด้วยเสียงของ Amazon และ อุปกรณ์สมาร์ทโฮม Xiaomi ของจีนที่สามารถควบคุมด้วยเสียง ในอนาคตอันใกล้การค้นหาด้วยเสียงจะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันของเรา

2. สินค้าและบริการแบบ Hyper-Personalization ประสบการณ์เฉพาะสำหรับคุณ
พัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับ Big Data และ AI สร้างโอกาสให้นักการตลาดสามารถสร้างประสบการณ์เฉพาะแบบรายบุคคล ให้ตรงความต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น แต่การจะพัฒนาให้ทันความคาดหวังของผู้บริโภคให้ได้นั้น นักการตลาดต้องก้าวสู่โลกของการตลาดแบบ Hyper-Personalization Marketing ซึ่งผสานข้อมูลอันหลากหลายแบบมีการใช้ Data Science และ predictive analytics ในการวิเคราะห์และคาดเดาพฤติกรรมผู้บริโภค ทำการตลาดที่สอดคล้องร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งภายในองค์กร และ ภายนอกองค์กร กับคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้แก่ลูกค้า

Hyper-Personalization เป็นกลยุทธ์การตลาดที่แบรนด์จะต้องลงทุนเพื่อตอบสนองความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นของลูกค้าเมื่อซื้อผลิตภัณฑ์และบริการ พวกเขาต้องการประสบการณ์ที่รู้ใจและเหมาะกับตัวเขาที่สุด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เรื่องของกลุ่มเครื่องสำอาง ที่ในปัจจุบันไม่สามารถเหมารวมเรื่องความงามเป็นแบบเดียวได้อีกต่อไป แต่ต้องคำนึงถึงความงามที่หลากหลายและแตกต่าง ทั้งเรื่องของสีผิวและรูปร่าง 

3. Moment-based Marketing: มอบสิ่งที่ใช่ ในเวลาที่ใช่
การใช้ประโยชน์จาก Micro Moments หรือ เสี้ยวเวลาเล็กๆ ในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญที่แบรนด์สามารถจะนำเสนอคุณค่าบางอย่าง ‘ที่เฉพาะเจาะจง’ กับช่วงเวลานั้นๆ ให้แก่ลูกค้าได้

ในปัจจุบัน ขั้นตอนการตัดสินใจซื้อสินค้าสักชิ้นของลูกค้าไม่ได้เรียบง่ายเป็นเส้นตรงเหมือนเดิมอีกต่อไป แต่มีรูปแบบอื่นๆ อีกมากมายที่เราต้องเรียนรู้และปรับตัว ตัวอย่างเช่น การโพสต์ที่สามารถสั่งซื้อสินค้าได้เลย เป็นรูปแบบใหม่ทีย่อกระบวนการ จากการรับรู้ สู่การซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภค ให้การตัดสินใจนั้นสั้นและกระชับมาก ดังนั้น นักการตลาดจึงต้องพาแบรนด์เข้าไปอยู่ใน Micro Moment ของกลุ่มเป้าหมายให้ได้ โดยสร้างความเชื่อมโยงระหว่างแบรนด์และกลุ่มเป้าหมายในช่วงเวลาต่างๆ ผ่านการออกแบบการสื่อสารการตลาดและคอนเทนท์ต่างๆ ที่จะเข้าไปมีบทบาทช่วยเหลือเขาอย่างเหมาะสม ในเวลาที่เหมาะสม

หากพูดถึงเหตุการณ์สำคัญระดับโลก ในปี 2563 นี้ ที่สามารถมาเชื่อมโยงความต้องการผู้บริโภคที่นักการตลาดสามารถนำมาสร้างแบรนด์ หรือส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์หรือบริการของตนได้ อาทิเช่น โตเกียวโอลิมปิค ในปี 2563 (กรุงโตเกียวจะเป็นเมืองที่สอง เหมือนกับกรุงลอนดอน ที่เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมากกว่าหนึ่งครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2) และ การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ในปี 2563 (Euro 2020) ทั้งสองเหตุการณ์เป็นโอกาสในการสร้างการเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมายได้ตามความเหมาะสม

4. การเติบโตของ Video Search Optimization จะมาแทนที่ SEO แบบเดิมๆ
ผู้บริโภคนิยมใช้สื่อวีดีโอในการเรียนรู้เกี่ยวกับสินค้าและบริการใหม่ๆ ด้วยเทคโนโลยี Video Search Optimization เพิ่มขึ้น ทำให้การขายในปัจจุบันง่ายกว่าที่เคย เพราะเมื่อผู้บริโภคเลือกเข้าไปดูวีดีโอ พวกเขาสามารถทำการค้นหาสินค้าและบริการโดยเพียงแค่แตะที่วัตถุในวิดีโอแล้วทำการซื้อได้เลยโดยไม่ต้องออกจากหน้าวีดีโอนั้นๆ นอกเหนือจากนี้ เทรนด์การหาข้อมูลผ่านวีดีโอสตรีมมิ่งและการหาด้วยเสียงนั้นเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และเป็นที่ชื่นชอบและสามารถโต้ตอบกับผู้บริโภคได้มากกว่าจากการอ่านข้อมูลที่พิมพ์ไว้สำหรับการอ่าน

จึงเป็นสิ่งสำคัญที่นักการตลาดควรจะสร้างสรรค์เนื้อหาแบบ visual มากขึ้น ที่ส่งผลกับการพฤติกรรมการตัดสินใจของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลแบบ Data Visualization, อินโฟกราฟฟิกที่น่าสนใจ, ภาพและเนื้อเรื่องที่ส่งผลต่ออารมณ์และความชื่นชอบในทุกช่องทางของการสื่อสารการตลาดและแบรนด์สินค้า

5. Nano Food Printing: นวัตกรรมเครื่องพิมพ์อาหารนาโน สามารถปรับแต่งอาหารและโภชนาการให้เหมาะสมตอบโจทย์สุขภาพของรายบุคคล
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้ตื่นเต้นไปกับความก้าวหน้าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ การพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) แต่เมื่อนาโนเทคโนโลยีก้าวเข้ามา เราจะได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถปรับแต่งอาหารและโภชนาการให้ตอบโจทย์สุขภาพของเราได้เป็นรายบุคคล

นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี จะเปิดศักยภาพใหม่และความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการแปรรูปอาหาร ไม่ใช่แค่เรื่องการวิเคราะห์และสร้างสรรสร้างอาหารและโภชนาการที่ร่างกายคนต้องการ เพิ่มเอนไซม์ที่เป็นประโยชน์ที่ร่างกายต้องการให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีอายุยืนยาวขึ้น และประหยัดค่าใช้จ่ายขึ้น แต่ยังรวมถึงการหลีกเลี่ยงเชื้อโรคและส่วนประกอบทางเคมีอื่น ๆ ที่ไม่เหมาะสมกับผู้บริโภคอีกด้วย

6. Space Technology Revolutionary: ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่มาจากการสื่อสารทางแสงแบบไร้สายจากดาวเทียมที่จะมาแทนสายเคเบิลใยแก้วแบบเดิมๆ
เมื่อเทคโนโลยีอวกาศนั้นมีการเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โอกาสทางการค้าก็มีมากขึ้นเช่นกัน ทั้งบริษัท tech-startup และผู้ลงทุนเริ่มมองเห็นศักยภาพในการมีโดเมนนอกโลก และการพัฒนาดาวเทียมวงโคจรต่ำเพื่อใช้ในการสื่อสารที่ใช้ดาวเทียมหลายดวงในลักษณะหมู่ดาว (Constellation) จะช่วยสร้างการเชื่อมต่อครอบคลุมทั่วโลกและด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก แม้จะมีความท้าทายเกี่ยวกับนโยบายทางการเมืองจากประเทศต่างๆ แต่ประโยชน์ที่เทคโนโลยีอวกาศสามารถนำมาใช้นั้นมีความน่าสนใจมาก

เมื่อเทคโนโลยีเลเซอร์ความเร็วสูงในอวกาศมาแทนที่เส้นใยเคเบิลใต้มหาสมุทร ก็จะช่วยให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการเชื่อมต่อไร้ขีดจำกัดทั่วโลก ซึ่งหมายความว่าคุณจะสามารถสัมผัสกับเทคโนโลยีอัจฉริยะได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้นโดยไม่มีข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ นอกจากนี้ยังหมายถึงความก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ เช่นระบบอัตโนมัติของรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตนเอง เป็นต้น

7. การมาถึงของเทคโนโลยี 5Gs และ bandwidth ขนาดใหญ่: ความเร็วและแรงที่จะเกิดขึ้นจริงในโลกการสื่อสาร
ระบบ 5Gs และ bandwidth ขนาดใหญ่จะช่วยเสริมศักยภาพของการตลาดในอนาคต โดยเฉพาะในเรื่องของ personalized marketing strategies หรือกลยุทธ์การตลาดระดับบุคคล เพราะความเร็วของเทคโนโลยีนี้จะช่วยเรื่องการส่งต่อของข้อมูลให้ลื่นไหล และการทำการตลาด content marketing จะน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

และเมื่อเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับอินเทอร์เน็ตมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โลกจะยิ่งมีการเชื่อมต่อในระดับที่สูงขึ้นมาก ดังนั้น เราจะได้เห็นพัฒนาการขั้นสูงของแชทบ็อต และการสื่อสารในรูปแบบใหม่ๆที่ง่ายต่อการใช้งาน และระบบ 5G จะมาเปลี่ยนโลกการสื่อสาร หรือเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือเดิมๆที่เราเคยรู้จัก ให้ก้าวไกลไปอีกขั้น

8. Holographic Technology & Imagining Technology: เมื่อโลกแห่งจินตนาการกลายเป็นเรื่องจริง
เทคโนโลยี 5G จะช่วยทำให้ Holographic Technology & Imagining Technology กลายเป็นเครื่องมือทางเลือกที่มาแทนที่จอโทรทัศน์ที่เป็นภาพ 2 มิติ สำหรับโลกบันเทิงและการสื่อสารในอนาคต

อีกไม่ช้าเราจะได้เห็นผลิตภัณฑ์ 3D โฮโลแกรมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์สตาร์วอร์ออกสู่ท้องตลาดมากมาย ความเป็นไปได้ของธุรกิจนี้จะขยายไปอีกมากจากการเติบโตของเทคโนโลยี อาทิ โทรทัศน์สามมิติสำหรับความบันเทิง และเกมโฮโลแกรม สำหรับสมาร์ทโฟน 5G ความเร็วสูง ผู้บริโภคจะได้เปิดประสบการณ์การชมภาพยนตร์ในรูปแบบโฮโลแกรมเสมือนจริงที่จะมาเปลี่ยนรูปแบบความบันเทิงที่คุ้นเคย ตัวอย่างเช่นผู้บริโภคสามารถย้อนกลับไปสัมผัสกับประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีต เช่นการดูคอนเสิร์ตเก่าของศิลปินอมตะในอดีตหลายๆท่าน เป็นต้น

9. Co-working Space: ไม่ใช่แค่การแบ่งปันสถานที่อีกต่อไป แต่รูปแบบธุรกิจใหม่คือการแบ่งปันทรัพยากรและความเชี่ยวชาญ
การแบ่งปันพื้นที่ทำงานร่วมกันนั้นเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ประกอบการและผู้เริ่มธุรกิจมาสักพักหนึ่งแล้ว และเทรนด์นี้ยังนำไปสู่แนวคิดเศรษฐกิจแบบ Sharing Economy ที่มีการแบ่งปันทั้ง ทรัพยากร และ องค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ เพราะสิ่งเหล่านี้ช่วยลดต้นทุนโดยรวม ซึ่งการดำเนินงานและรูปแบบธุรกิจดังกล่าวเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่และบริษัทขนาดเล็กที่เพิ่งเริ่มต้นเป็นอย่างมาก

แนวคิดสถานที่ทำงานร่วมกันแบบเปิด แบบที่เรียกว่า Co-working space ยังช่วยส่งเสริมการสนทนาและการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ให้ผู้คนสามารถแบ่งปันความคิดอย่างเปิดเผยและพัฒนาโอกาสทางธุรกิจ

เราได้เห็นแนวคิดเศรษฐกิจแบบ Sharing Economy จากวิธีการหลายๆธุรกิจในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น บริการ app ทางโทรศัพท์มือถือ ที่เป็นสื่อกลางให้กับผู้ขับขี่ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับบริเวณที่มีความต้องการของลูกค้า ผันตัวเองมาเป็นคนจัดส่งของอิสระ (delivery drivers) แทนที่จะจ้างต้องพนักงานประจำเพื่อจัดส่งสินค้าดังกล่าว

10. Travel intentions for social causes: เทรนด์การท่องเที่ยวเพื่อสังคม
โครงสร้างทางสังคมยุคนี้ เอื้อให้เราสามารถเดินทางได้ง่ายขึ้นด้วยค่าใช้จ่ายที่น้อยลง ดังนั้นเราจึงเห็นความเติบโตของเทรนด์การเดินทางรูปแบบใหม่เพื่อช่วยเหลือสังคม และวิธีการท่องเที่ยวก็จะช่วยเติมเต็มความต้องการส่วนตัวของผู้เดินทาง ส่วนหนึ่งมาจากความตั้งใจทำให้ทริปแต่ละทริปมีความหมายยิ่งขึ้น เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการเติมเต็มเป้าหมายให้แก่ชีวิตของตนเองผ่านการให้ การช่วยงานสาธารณประโยชน์ และคืนสิ่งดีๆ กลับสู่สังคมนอกเหนือชุมชนที่พวกเขาพักอาศัยอยู่เท่านั้น


ขอขอบคุณสำหรับการเผยแพร่ข่าวและหากต้องการขอข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย โทร 02 – 679 7360 – 3
ม.ร.ว. สุทธิภาณี ยุคล (หญิงนุ่น) 099 – 979 2963
หรือ จิราภรณ์ พึ่งสัตย์ (จิ๊บ) 085-1994991

Tags:

ผู้เขียน
MAT TEAM

สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย

สมัครรับข่าวสาร

logo