KEY FOCUS
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT) พลิกเกมปั้น ‘หัตถอุตสาหกรรมไทย’
ด้วยกลยุทธ์คู่ขนาน ยกระดับคุณค่าและรสนิยมแบบใหม่ในเวทีสากล พร้อมส่งเสริม
งานหัตถศิลป์ให้เป็นอาชีพเสริมในทุกชุมชนการดัน ‘ครูช่าง’ และ ‘ทายาทช่างศิลป์’ ให้ทำงานได้อย่างมีศักดิ์ศรี คือวิธีบ่มเพาะ ทรัพยากรบุคคลที่ยั่งยืนที่สุด
การจะทำให้ธุรกิจหัตถศิลป์เติบโตได้ เด็กรุ่นใหม่ต้องอยากเข้ามาทำงานพวกนี้บนค่านิยม
ที่ไม่เหมือนรุ่นพ่อแม่งานคราฟท์ของไทยเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมาตลอด เราแค่ต้องทำให้มูลค่า
ของผลงานมันสูงขึ้นได้ด้วยตัวเอง
สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยพูดคุยกับ ผ.อ.แป้ง – อัมพวัน พิชาลัย หัวเรือใหญ่แห่งศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ที่ในวันนี้คนรุ่นใหม่รู้จักกันในชื่อ SACICT เสียมากกว่า) แม้จะเข้ามาบริหารองค์กรด้านมรดกวัฒนธรรมนี้ได้เพียงสามสี่ปี แต่ผู้บริหารหญิงหัวก้าวหน้าท่านนี้ มีวิสัยทัศน์ที่ร่วมสมัยอย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอดหัตถศิลป์ไทยในทุกมุมของประเทศ
วันนี้เรานั่งคุยกับท่านในระหว่างออกทริป ‘SACICT จิตอาสา พัฒนาอาชีพ’ ที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งบทสนทนาต่อจากนี้จะไม่ทำให้คุณแปลกใจเลยว่าเพราะอะไรเธอถึงได้รับฉายาว่า “เจ้าแม่ร้อยโปรเจ็กท์” และคู่ควรอย่างยิ่งกับรางวัลสตรีนักบริหารดีเด่นประจำปี 2562 ในสาขาสตรีผู้บริหารภาคราชการ
เชิดชูคุณค่าระดับสากล X สร้างอาชีพให้ชุมชนยั่งยืน
ต้องยอมรับจริงๆ ว่าแม่ทัพหญิงท่านนี้เธอวางเป้าหมายให้กับการพัฒนาองค์กรในระยะสามปีไว้แบบเกินร้อย อาจจะเรียกว่าเป็นการพลิกเกมใหม่หมดตั้งแต่วันที่เธอยืนยันกับคณะกรรมการบริหารทั้งชุดว่า “ดิฉันจะตั้งชื่อเรียกองค์กรนี้ใหม่เป็นภาษาอังกฤษนะคะ จะให้สื่อมวลชนและคนทั่วไปเรียกว่า SACICT (อ่านว่า ศักดิ์-สิทธิ์) เพราะจากนี้ไปในอนาคตเราต้องเป็นองค์กรที่มีภาพลักษณ์แบบสากลแล้ว”
ผ.อ. อัมพวันเผยถึงแนวคิดการทำ ‘พันธกิจคู่ขนาน’ นั่นคือการยกระดับคุณค่าและมูลค่าของหัตถศิลป์ไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ และในขณะเดียวกันหัตถศิลป์ก็ต้องเป็นเครื่องมือช่วยสร้างรายได้ สร้างอาชีพเสริม และสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนหัตถกรรมต่างๆ ทั่วประเทศไปพร้อมกันด้วย “ตอนแรกที่บอกกับบอร์ดเรื่องเปลี่ยนชื่อเขาก็ลังเลกันนะคะ แต่ดิฉันบอกว่ายังไงก็จะเปลี่ยน เพราะเรื่องผ่าน ครม.แล้ว ดิฉันทำได้” เธอย้อนเล่าถึงภารกิจแรกพร้อมรอยยิ้มขัน
ครูช่างของแผ่นดิน ทรัพยากรมนุษย์ที่ต้องต่อยอด
โครงการเชิดชู ‘ครูช่างศิลปหัตถกรรม’ และ ‘ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม’ คือโปรเจ็กท์สำคัญอันหนึ่งที่ ผ.อ.อัมพวัน ตั้งอกตั้งใจทำมาตลอดตั้งแต่ยุคแรกๆ โดยหลังจากที่เธอทราบจากทีมงานว่าศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศมีสมาชิกครูช่างและครูศิลป์ในระบบอยู่ถึงกว่า 300 ราย แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยได้ทำงานร่วมกันแบบลงรากลึก มีเพียงแค่การเรียนเชิญให้สมาชิกมาร่วมออกงานหรือแสดงผลงานในนิทรรศการต่างๆ บ้างเท่านั้น
“ดิฉันถามทีมงานแต่แรกว่าครูช่างมีบทบาทอย่างไรกับองค์กรของเราบ้าง คำตอบที่ได้กลับมาคือทุกท่านเป็นสมาชิกค่ะ บางท่านมาร่วมงานกับเราบ้างเป็นครั้งคราว ซึ่งดิฉันมองว่านั่นยังไม่พอหรอก เพราะคนเหล่านี้แท้จริงคือ asset ของชาตินะคะ SACICT ต้องหาทางส่งเสริมครูที่มีศักยภาพให้ได้ต่อยอดองค์ความรู้อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เขาก้าวขึ้นมาเป็นผู้ที่มีพลังสืบสานมรดกได้อย่างแท้จริง”
“คำถามแรกคือเราจะทำอย่างไรให้ครูช่างส่วนใหญ่มีชีวิตที่สมเกียรติ มีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ดีตามสมควร และที่สำคัญคือเป็นบุคคลที่ได้รับความยกย่องจากคนรุ่นใหม่ๆ ในชุมชนก่อน”
เพราะหลักคิดทางการตลาดง่ายๆ เลยคือถ้าคุณอยากให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเรียนรู้เป็นทายาทหัตถศิลป์ อยากให้เขาสนใจที่จะสืบทอดภูมิปัญญา คุณก็ต้องทำให้เขาเชื่อก่อนว่าอาชีพนี้มันมีศักยภาพที่ดีในอนาคต เขามีโอกาสที่จะเติบโตไปสู่การเป็นนักออกแบบ เป็นศิลปิน หรือเป็นผู้ประกอบการหัตถอุตสาหกรรมที่มีฐานะมั่นคง สามารถดูแลตนเองและครอบครัวได้จริง”
หัตถกรรม VS กสิกรรม : วิถีชุมชนที่ต้องส่งเสริมกันและกัน
คำถามที่สองคือเมื่อครูช่างยินดีที่จะร่วมโครงการทำงานกับ SACICT แล้ว เขาจะเข้าไปถึงชุมชนห่างไกลต่างๆ ได้อย่างไรโดยให้คนในท้องถิ่นเหล่านั้นเปิดรับและอยากทำงานให้ครูช่างเป็นอาชีพเสริม
“อย่าลืมนะคะว่าชาวไร่ ชาวประมง หรือชาวเขาเผ่าต่างๆ แม้เขาจะมีทักษะหัตถกรรมพื้นฐานอยู่กับตัวอยู่แล้ว เช่น
ทอผ้าได้ ปักผ้าเป็น ทำเสื่อจักสาน เหลาไม้ได้ ฯลฯ แต่นั่นเป็นแค่ทักษะที่เขาใช้ในการดำรงชีวิตเท่านั้น มันไม่เคยเป็นอาชีพนะ อาชีพจริงๆ ของเขาคือการเกษตร การประมง การทำไร่ทำสวนทำนา ปศุสัตว์ ฉะนั้นโครงการสร้างอาชีพ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของ SACICT เราจะต้องไม่ไปเบียดเบียนวิถีดั้งเดิมตรงนั้น
“เรากับครูช่างจะรู้กันว่างานที่เรานำพาเข้าไปในชุมชนนี้จะมีบทบาทเป็นอาชีพเสริมเท่านั้น และมันต้องไม่ไปทำลายวิถีดั้งเดิมของท้องถิ่นเขาด้วย”
ยกตัวอย่างในหมู่บ้านเล็กๆ บนดอยของชาติพันธุ์ ‘อาข่า’ และ ‘ลาหู่’ ที่เราได้เดินทางไปเยี่ยมชมระหว่างทริปนี้ ครูช่างสิริวัฑน์ เธียรปัญญา หรือ “ลุงปุ๊” ผู้ก่อตั้งแบรนด์ผ้าปักกองหลวง ได้ขึ้นไปเชิญชวนชาวบ้านให้มารับงานปักผ้าไปทำในเวลาว่าง โดยครูช่างจะเข้าไปเยี่ยมเยียนชุมชนเดือนละครั้ง เพื่อสอนงานปัก ‘สไตล์ร่วมสมัย’ ให้กับคนที่สนใจ พร้อมทั้งนำวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นขึ้นไปให้อย่างครบครัน
“เราวาดลายลงบนผ้าทอไปให้เสร็จสรรพครับ ลุงจะเลือกสีด้ายและแบ่งกลุ่มสีต่างๆ ไว้ให้เขาใช้อย่างชัดเจน
ชาวบ้านจะได้ไม่ต้องมาปวดหัวกับการคิดลายเอง ไม่งั้นทุกผืนจะออกมาเป็นลายสับปะรด ลายนก ลายไก่ เพราะชีวิตเขารายล้อมด้วยธรรมชาติเหล่านี้ ชาวป่าชาวเขามีข้อจำกัดในการเข้าถึงรสนิยมของตลาดร่วมสมัย ซึ่งเราเข้าใจนะ เขาไม่ได้ผิดอะไรเลย นั่นคือวิถีชีวิต”
“ดังนั้นเราจึงต้องวางโมเดลการทำงานร่วมกันกับชุมชนใหม่ว่าให้เขาใช้ ‘ทักษะ’ การทำงานมือ ซึ่งเขาทำเป็นปกติอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน มาต่อยอดเป็นอาชีพเสริมดีกว่า พอทำงานเสร็จก็รับค่าจ้างจากลุงไป แต่ต้องทำให้ได้ตามมาตรฐาน ทำตามโจทย์ที่ให้ ส่วนถ้าใครยังฝีมือไม่ถึง ลุงก็จะค่อยๆ สอนให้เขาเก่งขึ้นได้”
ในมุมหนึ่งเราเห็นด้วยว่าแนวคิดของลุงปุ๊มีศักยภาพที่จะทำให้ธุรกิจหัตถศิลป์เติบโตได้ และในขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยสืบสานทักษะให้คงอยู่ต่อไปในท้องถิ่น “เด็กรุ่นใหม่ที่อยากมีรายได้เขาก็สนใจมาทำงานพวกนี้เหมือนกัน” ลุงปุ๊เล่าถึงไดนามิกใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในระดับชุมชน
ศึกษาเทรนด์โลก + ถ่ายทอดแนวคิดร่วมสมัย = ยกระดับหัตถศิลป์ไทยสู่ดีมานด์ที่แท้จริง
เราทราบมาว่าอีกบทบาทหนึ่งของ SACICT ในการยกระดับงานฝีมือก็คือการต่อยอดเชิงเศรษฐกิจให้งานช่างต่างๆ สามารถขยายวงและเติบโตสู่ความเป็น ‘หัตถอุตสาหกรรม’ ได้ในอนาคต ซึ่งในประเด็นนี้ ผ.อ.อัมพวัน เผยว่า
เป็นเป้าหมายปักหมุดของเธอมาโดยตลอด แต่แน่นอนว่ามันไม่ใช่โจทย์ที่จะทำให้สำเร็จในเวลาอันสั้นได้ อย่างไรก็ดี
เครื่องมือหนึ่งที่ SACICT ได้นำมาใช้ในการผลักดันหัตถศิลป์พื้นถิ่นให้ ‘เชื่อมโยงกับตลาดร่วมสมัย’ ได้มีผลสัมฤทธิ์ก็คือการค้นคว้าและระบุ ‘เทรนด์การบริโภค’ เป็นแหล่งข้อมูลให้กับคนทำงานคราฟท์ระดับแถวหน้า และกลุ่มผู้นำในชุมชนช่างฝีมือต่างๆ ได้นำไปประยุกต์ใช้
“ทักษะงานคราฟท์ของคนไทยเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมาตลอด เพียงแต่เราจะทำอย่างไรให้มูลค่าของผลงานที่เราทำออกไปสู่ตลาดนั้นมันสูงขึ้นด้วยตัวเอง ไม่ต้องมาแข่งขันกันที่ราคาค่าจ้าง เพราะนั่นไม่ใช่แนวทางของการตลาดที่ยั่งยืน”
เชื่อว่านักการตลาดหลายๆ ท่านที่อ่านมาถึงจุดนี้น่าจะมีคำตอบในใจให้กับอนาคตของ ‘หัตถอุตสาหกรรมไทย’
กันบ้างแล้ว สำหรับเราเชื่อว่า
หนึ่ง – วิถีการผลิตจำเป็นต้องปรับตัวได้บ้างเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อรายใหญ่
สอง – แนวคิดผลิตภัณฑ์ต้องส่งเสริมให้คราฟท์ไทยไม่แปลกแยกจากบริบทชีวิตร่วมสมัยจนเกินไป และ
สาม – การเล่าเรื่องแบบใหม่ (ของทักษะและภูมิปัญญาเดิม) จะสร้างเสน่ห์ที่คู่แข่งในวัฒนธรรมอื่นไม่มีวันลอกเลียนได้
เรามั่นใจว่าหากคนทำงานคราฟท์ทั่วประเทศซึมซับแนวคิดข้างต้นนี้ไปประยุกต์ใช้ได้บ้างแม้เพียงบางส่วน ก็น่าจะเป็นหนทางที่พาทักษะเดิมๆ ของพวกเขาให้เชื่อมโยงกับ ‘ดีมานด์’ และ ‘รสนิยม’ ของโลกยุคใหม่ได้มากขึ้น เพราะทุกวันนี้ผู้บริโภคเงินถึงต่างรอคอยที่จะเสพฝีมือช่างระดับห้าดาวกันอยู่แล้ว รถไฟกำลังวิ่งมา…คุณแค่เกาะขบวนไปให้ถูกคันก็พอ!
เครดิตภาพ: SACICT