Marketing Insight

“9 เทรนด์โลก” ที่นำไปสู่ “4S”
เจาะลึกอินไซต์ผู้บริโภคไทย – SELFsumer Seamlessness Security และ Sustainability
บทสรุปจากรายงานของ Ipsos Global Trends

SHARE

บริษัท อิปซอสส์ จำกัด ผู้นำระดับโลกด้านการวิจัยตลาดเปิดเผยรายงาน Ipsos Global Trends 2024 ซึ่งเป็นผลการศึกษาจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้คนจำนวนกว่า 50,000 คนใน 50 ประเทศ พบว่าท่ามกลางความตึงเครียดเเละสับสนในโลกปัจจุบัน ผู้บริโภคต่างแสดงความตั้งใจที่จะควบคุมอนาคตของตนเอง โดยสามารถเเบ่งเทรนด์ย่อยเป็น 9 แบบด้วยกันคือ
● Globalisation Fractures อลหม่านโลกาภิวัฒน์
● Splintered Society สังคมที่เเตกเเยก (ของฉัน-ของเธอ-ไม่ใช่ของเรา)
● Climate Convergence เพราะโลกนี้มีใบเดียว
● Technowonder: เทคโนโลยีมหัศจรรย์-ตื่นเต้นหรือกังวลใจ
● Conscientious Health: การสร้างสุขภาพดีอย่างมีจิตสำนึก
● Retreat to Old Systems: ย้อนเวลาหาอดีต
● Nouveau Nihilism: ชีวิตไม่มีความหมายตายตัว ปัจจุบันสร้างสุข
● The Power of Trust: พลังเเห่งความเชื่อมั่นเเละศรัทธา
● Escape to Individualism: ปัจเจกนิยมในโลกอันวุ่นวาย

และ 9 เทรนด์นี้เองที่อิปซอสส์นำไปขมวดประเด็นหลักมาเป็น 4S ที่เจาะลึกอินไซต์ของผู้บริโภคไทย นั่นคือ SELFsumer Seamlessness Security และ Sustainability แล้ว S แต่ละตัวจะบ่งบอกความคิดที่ผู้บริโภคมีต่อแบรนด์อย่างไรบ้าง?

SELFsumer: มีความสุขในวันนี้ เพราะอนาคตไม่แน่นอน

เมื่อเศรษฐกิจทั่วโลกตกอยู่ในภาวะที่คาดการณ์ลำบาก ผู้คนจึงเริ่มไม่เชื่อว่าการเก็บออมเป็นทางออกของความมั่นคงในชีวิตและยินดีจับจ่ายใช้สอยเพื่อให้ตนเองมีความสุขกับปัจจุบัน มีคนบางกลุ่มยังเลือกที่จะหลีกหนีความวุ่นวายบนโลกแห่งความจริงไปใช้ชีวิตในโลกเสมือนจริงแทน และยังเน้นให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ของตัวเองทั้งบนโลกความจริงและออนไลน์ ผู้บริโภคเริ่มหันมาเชื่อตนเองหรือแวดวงออนไลน์ของตนเองมากกว่าที่จะเชื่อแบรนด์หรือผู้เชี่ยวชาญ ผู้คนถึงร้อยละ 84 ต้องการควบคุมการตัดสินใจเกี่ยวกับสุขภาพของตนเองมากขึ้น และร้อยละ 82 มักจะพยายามค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพด้วยตัวเองอยู่เสมอ แทนที่จะอาศัยเพียงสิ่งที่แพทย์บอก

Seamlessness: ตื่นตาตื่นใจกับประสบการณ์ไร้รอยต่อ

เชื่อหรือไม่ว่าคนไทยมีความสนใจในเรื่องของการนำ AI (Artificial Intelligence) มาใช้ในผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ เป็นอันดับสามของโลกรองจากจีนและอินโดนีเซีย ระบบการซื้อขายหรือการให้บริการต่าง ๆ เริ่มปรับเปลี่ยนมาใช้ AI แทนการใช้คนบริการ แม้ในช่วงแรกจะมีความไม่คุ้นชินแต่เมื่อใช้บ่อยขึ้น คนไทยส่วนใหญ่มีทัศนคติเชิงบวกต่อ AI และเชื่อว่า AI จะเข้ามาปรับปรุงในด้านต่าง ๆ ให้ดีขึ้นในอีก 3-5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในด้านความบันเทิงและการประหยัดเวลา แต่ถึงแม้ว่าผู้บริโภคต้องการความสะดวก รวดเร็ว ว่องไว ผู้คนยังคงมองหาปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ ชอบการบริการจากคน มากกว่าจากแชตบอต แบรนด์จึงต้องตอบสนองและกำหนดความคาดหวัง ทำความเข้าใจและรวบบริบทเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและใช้ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ในการออกแบบและส่งมอบประสบการณ์

Security: มองหาการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล

แม้ผู้คนจะเริ่มคุ้นเคยกับการใช้ระบบ AI หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ มากขึ้น แต่สิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือความวิตกกังวลเกี่ยวกับรั่วไหลของของมูลส่วนบุคคล เพราะการเข้าถึงระบบต่าง ๆ จะมีการขอข้อมูลที่ผู้บริโภคเองอาจไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจถึงการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ร้อยละ 81 ยังคงมีความกังวลว่าข้อมูลส่วนตัวที่บริษัทต่าง ๆ เก็บรวบรวมเกี่ยวกับพวกเขาจากโลกออนไลน์นั้นจะถูกนำไปใช้อย่างไร

Sustainability: การพัฒนาอย่างยั่งยืนมีอะไรมากกว่าด้านสิ่งแวดล้อม

เทรนด์สุดท้ายที่ผู้บริโภคคนไทยให้ความสำคัญคือการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย 3 อันดับแรกคือ 1.การยุติความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ 2.การศึกษาที่ครอบคลุมและมีคุณภาพ และ 3.การจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพและการมีงานที่มีคุึณค่าสำหรับทุกคน จะเห็นได้ว่าประเด็น “ESG” ที่คนไทยให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ล้วนอยู่ในหมวด Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) มากกว่าในหมวด Environment (สิ่งแวดล้อม) ร้อยละ 87 ของคนไทยเชื่อว่าแบรนด์สามารถสร้างรายได้ไปพร้อม ๆ กับทำสิ่งดี ๆ เพื่อสังคมได้ จึงเป็นโอกาสดีสำหรับแบรนด์ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค สนับสนุน ร่วมดูแลสังคม แสดงความจริงใจ และสื่อสารอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสังคมและธรรมาภิบาล

จากเทรนด์ 4S ที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าเทรนด์โลกและเทรนด์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างไม่หยุดนิ่ง ดังนั้นแบรนด์จึงควรเตรียมพร้อมอยู่เสมอและมีหลัก “3 Be” เป็นที่ตั้ง ได้แก่
1. Be Informed หรือ การตระหนักและเข้าถึงความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคอยู่เสมอ
2. Be Active หรือ การตอบสนองของแบรนด์ที่รวดเร็วต่อเทรนด์ พฤติกรรม หรือเทคโลโลยีใหม่ ๆ
3. Be Inclusive ซึ่งหมายถึงการย้อนกลับมามองกลุ่มผู้บริโภคหลัก และปรับระดับการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เหมาะกับผู้บริโภคของตน เพราะถ้ากลุ่มผู้บริโภคหลักไม่สามารถตามทันเทคโนโลยีที่แบรนด์นำมาใช้ได้ ความพึงพอใจของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์ก็อาจจะลดลงได้

ดาวน์โหลดรายงาน Ipsos Global Trends ได้ที่ > https://resources.ipsos.com/Download_Ipsos_Global_Trends_.html


หมายเหตุ: ผลสำรวจ Ipsos Global Trends 2024 เป็นการสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เป็นชาวไทย อายุระหว่าง 20 – 74 ปี 1000 คน ระหว่างเดือน กุมภาพันธ์ – เมษายน 2567

Tags:

ผู้เขียน
MAT TEAM

สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย

สมัครรับข่าวสาร

logo