Knowledge

MAT Vaccine For Business EP.2

82
SHARE

สร้างประสบการณ์หน้าร้าน อย่างไรให้ปัง!

ในยุคนี้ เป็นยุคที่นักการตลาดแทบจะไม่ได้แยกออกจากผู้ประกอบการแล้ว เพราะออนไลน์สร้างโอกาส ให้คนทุกคนสามารถเป็นผู้ประกอบการได้ แล้วผู้ประกอบการทุกคนที่จะขายของได้ ต้องมีหัวใจการตลาด ซึ่งการที่สมาคมการตลาดเริ่มต้นจัดทำ live จากแนวคิดว่าอยากจะช่วยเหลือผู้ประกอบการในยุคโควิด เพราะว่าหลายๆคนอาจจะมีสินค้าที่ขายของอยู่แล้ว หรือบางคนอาจจะทำงานประจำแต่สถานการณ์นี้ต้องหยุดงานไปรายรับไม่มี ซึ่งทางเลืกที่หลายๆคนทำก็คือเริ่มขายของ เราก็เลยชวนผู้เชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์การขายของออนไลน์มาสอนว่าต้องทำยังไง และเอาสูตรสำเร็จจากประสบการณ์ของทุกท่านมารวมกัน

จากตอนที่แล้ว ในเรื่องของการเปิดร้านออนไลน์ การสร้าง branding สินค้าที่ไม่ต่างทำอย่างไรให้ต่าง วันนี้มาคุยกันต่อ หากว่าเราหลังจากEP.1 ได้เริ่มเปิดร้าน มีชื่อร้าน มีสินค้าเตรียมพร้อมขาย ในสินค้าที่มีมากมาย ทำยังไงให้คนมาซื้อกับเรา เราจะสร้างประสบการณ์อย่างไร? ซึ่งยังอยู่กับทั้ง 3 ท่าน
จากตอนที่แล้ว
คุณสุรศักดิ์ เหลืองอุษากุล นักวางกลยุทธ์การตลาด และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท แบรนด์เบเกอร์ จำกัด
คุณธัญญ์นิธิ อภิชัยโชติรัตน์ ผู้ร่วมก่อตั้งและวางแผนกลยุทธ์การตลาด บริษัท สมอลเวิลด์ฟอร์คิดส์ จำกัด ซึ่งเป็น 1 ใน 10 คนไทยที่ได้รับการคัดเลือกจาเฟซบุ๊กให้เป็น Alpha Tester หรือทดลองเครื่องมือการตลาดใหม่ๆบนเฟซบุ๊กรายแรก
คุณยุทธนา เทียนธรรมชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อะเดย์ เฟรช จำกัด ผู้จัดจำหน่ายผลไม้ออนไลน์คนแรกของประเทศไทย

จริงๆแล้วการสร้างความประทับใจสำหรับการมีหน้าร้านก็ง่าย เพราะการบริการที่ดี พนักงานที่ยิ้มแย้ม ต้อนรับและตอบคำถาม ก็สามารถสร้างประสบการณ์ และความประทับใจได้ แล้วถ้าเป็นหน้าร้านออนไลน์ เราจะทำยังไงให้คนเลือกเรา? และสร้างประสบการณ์ที่เรียกว่า Seamless Experience

เราต้องมี Seamless Experience อธิบายคำนี้ง่ายๆ คืออะไร?

ในภาพการขายออนไลน์สามารถคิดให้เกิด Seamless Experience ได้โดย

การเริ่มคิดตั้งแต่ลูกค้าที่ยังไม่เคยคิดอยากได้สินค้าเราเลย > จนเริ่มสนใจ แล้วรู้จักเราหรือยัง พอรู้จักเราแล้ว > เลือกซื้อเรารึเปล่า หากเทียบกับคู่แข่ง จนกระทั่งติดต่อมา > แล้วจ่ายเงินหรือยัง หรือจะซื้อเพิ่มมั้ย จะส่งของอย่างไร เป็นต้น

คำถามเหล่านี้ คือคำถามที่ทุกธุรกิจ ต้องมีคำตอบ เพื่อจะหาให้ได้ว่า ขั้นตอนต่างๆที่ลูกค้าจะมามีประสบการณ์กับร้านของเรา เราจะคุยกับ หรือทำอย่างไรให้ลูกค้ารู้สึกราบรื่น และประทับใจที่สุดในทุกๆขั้น

ถ้าเราเริ่มแบ่งลูกค้าเป็นกลุ่ม ก็จะเริ่มมีคำตอบมากขึ้น ว่าเราจะสร้าง Seamless Experience ได้อย่างไร (ศัพท์เทคนิคที่เกี่ยวข้องก็จะมีคำว่า Consumer Journey, Funnel Marketing ซึ่งท่านที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมต่อได้)

อยากได้ > รู้จัก > เลือก ให้แต่ละขั้นตอนต่อเนื่อง โดยไม่หลุดหายไป

เพราะหลายครั้งที่ลูกค้าคุยกับเราแล้ว แต่ก็ไปเลือกซื้อกับร้านอื่น ขอยกตัวอย่างวิธีที่จะดึงให้ลูกค้าอยู่กับเราตั้งแต่ต้นจนจบ จากการกระตุ้นให้ลูกค้ารู้สึกว่า สินค้าชิ้นนี้คือสิ่งที่ลูกค้าต้องการแต่ไม่เคยรู้ตัว พอเกิดความอยากได้แล้วมาเลือกเรา จนซื้อของเรา

ถ้าการที่ลูกค้าจะเลือกพิมพ์เพื่อค้นหาร้านเรา แปลว่าเราต้องสร้างแบรนด์เป็นที่รู้จักในระดับนึง ถ้าเราเป็นร้านใหม่ วิธีที่จะทำให้ลูกค้ามาเจอเราได้ คือการตั้งชื่อเพจ ยึดจากคีย์เวิร์ดบางคำ บรรจุภัณฑ์ราคาถูก ขายส่ง จากโรงงาน

กลุ่มลูกค้ามักจะเห็นเราจากหน้าฟีด วิธีที่ง่ายที่สุด คือการใช้เครื่องมือโฆษณาของ Facebook เราจะพูดถึงเครื่องมือโฆษณาในตอนท้าย แต่สิ่งที่ลูกค้าเห็นจริงๆ คือ Content ของรูปภาพ หรือวิดีโอที่เราใช้สื่อ

“การที่เราจะสื่อสารกับลูกค้า เราควรรู้ว่า เรื่องราวที่จะเล่าให้คนเห็นผ่านฟีด กลุ่มที่เราจะเล่า เป็นกลุ่มที่รู้จักเราหรือยัง?”

ในกรณีของ สมอลเวิลด์ฟอร์คิดส์ ขายยางกัดของเด็ก รูปผลไม้ / ยีราฟ ในช่วงปี 2012 คนไทยยังไม่รู้จักยางกัด รู้จักเพียงจุกนมหลอก (pacifier) ฉะนั้นเข้าใจว่าลูกค้าจะไม่มีความต้องการ คือ คนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องการ หรือต้องใช้มัน

จึงนำไปสู่ Content ให้ความรู้ว่า “ลูกของคุณกำลังเอามือเข้าปากบ่อยๆ น้ำลายไหลเยอะ หงุดหงิด รอ้งไห้ โดยไม่มีสาเหตุใช่มั้ย?” “อาการเหล่านั้นเป็นเพราะว่าเด็กๆเริ่มคันเหงือกแล้ว เค้าก็เลยต้องเอานิ้วไปกดเหงือกให้นิ่มลงเพื่อที่ฟันจะโผล่ขึ้นมาง่ายขึ้นนั่นเอง”เมื่อเลือกยิงโฆษณาไปที่กลุ่มคุณแม่ เค้าก็จะรู้แล้วว่าอาการที่ลูกเค้าเป็น สาเหตุมาจากการคันเหงือกนั่นเอง หลังจากนั้น ก็คัดกลุ่มคนที่เคยดูวิดีโอ หรือเคยเห็นโฆษณานี้แล้ว ยิงโฆษณากลับไปต่อว่า “ตัวสินค้าของเรามีหลากหลายและมี มอก. จับถนัด กัดสนุก”

“การทำ Content สวยงามก็สำคัญ แต่การเลือกเรื่องราวที่จะเล่าให้ลูกค้าที่ถูกกลุ่ม สำคัญกว่า การลงทุนทำโฆษณาแต่เล่าให้คนฟังผิดกลุ่มย่อมไม่เกิดประโยชน์อยู่แล้ว”

เมื่อสื่อสารถูกคน ลูกค้าติดต่อมาหาเราแล้ว Seamless Experience ในฝั่งของสมอลเวิลด์ฟอร์คิดส์ มองว่าเริ่มต้นตั้งแต่ตอนที่ลูกค้าทักเข้ามา โดยปกติ มีแอดมิน 2 คน จะมีการแบ่งช่วงเวลาทำการ ( 05.00 – 00.00 น.) ซึ่ง KPI การตอบข้อความลูกค้าของ สมอลเวิลด์ฟอร์คิดส์ คือ ต้องไม่เกิน 5 นาที (มาตรฐานของ Facebook คือ 15 นาที คุณจะได้สัญลักษณ์ตอบเร็ว) เพราะว่าการตอบเร็ว จะได้เปรียบในยกแรก เพราะถ้าคุณมีปฏิสัมพันธ์อย่างรวดเร็วก็จะลดโอกาสที่ลูกค้าจะไปเลือกร้านอื่นได้มากขึ้น

เรื่องที่ร้านค้ามักลืมไปคือ ฟังก์ชั่นข้อความตอบกลับอัตโนมัติ ที่ Facebook ในเวลาที่คุณไม่สะดวกตอบคำถาม แต่ลูกค้ามักคาดหวังให้เราตอบในทันที ดังนั้น เราควรตั้งข้อความตอบกลับไว้ เช่น ขอบคุณลูกค้าที่ให้ความสนใจสินค้าและบริการของเรา ร้านของเราเปิดเวลา xx.xx -xx.xx น. ถ้าลูกค้ามีธุระด่วน สามารถ add line หรือโทรมาได้ที่ xx xxx xxxx เป็นต้น จะช่วยให้ลูกค้ารู้สึกเข้าใจได้มากขึ้น

สำหรับสมอลเวิลด์ฟอร์คิดส์ แอดมินจะเรียกแทนตัวเองด้วยชื่อเล่น และเรียกว่าคุณแม่ ซึ่งก็มีเรื่องที่ลูกค้าเป็นคุณน้ามาเลือกซื้อสินค้าให้หลาน ก็ค่อยปรับการคุยไปตามเหมาะสม แต่การเรียกแบบเจาะจงจะสร้างความรู้สึกดีให้กับลูกค้า และในกรณีลูกค้าเก่า เทคนิคที่ช่วยได้คือป้ายกำกับ ซึ่งเป็นอีกฟังก์ชั่นที่มีใน Facebook Inbox ให้คุณระบุได้เลย ซึ่งเมื่อลูกค้าทักเข้ามา แอดมินสามารถดูได้เลยว่าเป็นลูกค้าเก่าหรือไม่ หรือที่ง่ายกว่านั้นคือการเลื่อนขึ้นไปดูแชทด้านบน ซึ่งกรณีลูกค้าเก่า แอดมินของสมอลเวิลด์ฟอร์คิดส์จะตามขึ้นไปดูด้วยว่า ลูกค้าเลยส่งรีวิวลูกเค้ากลับมาหรือไม่ ถ้าเคย หรือมีการถามชื่อลูกเค้าแล้ว การทักทายจะเปลี่ยนเป็น สวัสดีค่ะ คุณแม่น้องxx วันนี้รับอะไรดีคะ ซึ่งทำให้ได้ผลตอบรับที่ดี การคุยเป็นกันเองมากขึ้น การใช้สติ๊กเกอร์ช่วย การทักทาย การจำชื่อลูกค้าได้ จะช่วยให้ร้านของเราดูโดดเด่น น่ารัก น่าสนใจกว่าร้านอื่นๆ เป็นประสบการณ์อย่างหนึ่งที่สำคัญ

และสุดท้าย การปิดการขาย สิ่งที่ทำให้ลูกค้าหลุดมือไป คือ การเพิ่มช่องทางการซื้อของ เช่น ไม่รับบัตรเครดิต ไม่รับการชำระเงินปลายทาง เป็นจุดที่ทำให้ร้านค้าพลาดโอกาสไปโดยไม่รู้ตัว ฉะนั้น Seamless Experience การซื้อ ก็ต้องง่ายด้วย Facebook เองก็มี ช่องทางการชำระเงิน ในส่วนการจัดการร้านค้า สมัครได้ง่ายบุคคลธรรมดาก็สมัครได้ ต้องเปิดใจลองสิ่งใหม่ เพื่อจะให้ลูกค้ารู้สึกกับเราว่าการซื้อของเป็นเรื่องง่าย

“ถ้าเราแก้ตามปมเหล่านี้ ร้านของคุณก็จะขายได้ง่ายขึ้น”

ปัญหาที่มักพบ ณ ช่วงเวลาปิดการขายทางออนไลน์ คือการถามข้อมูลลูกค้าเก่า “ซ้ำ”

ทำให้เกิดความไม่ประทับใจ สาเหตุ เกิดจากการที่แอดมินตอบข้อความตามแพทเทิร์นทุกครั้ง
ถ้าพบว่ามีการทักทายจากลูกค้าเก่า ให้ย้อนดูข้อคววาม แล้วเรียกพูดคุยด้วยชื่อของลูกค้า ห้ามถามที่อยู่ซ้ำ และเทคนิคสำคัญ คือ การสรุปรายการซื้อและแจ้งยอดชำระเงินให้ลูกค้า ก่อนถามที่อยู่จัดส่ง การปล่อยให้ลูกค้ามีช่วงเวลาสลับไปทำอย่างอื่น หรือออกจากการคุยไปหาที่อยู่จัดส่งมาแจ้ง อาจทำให้ลืมเราไป หากลูกค้าทราบยอด และทำการชำระเงินแล้ว อย่างไรก็ต้องส่งที่อยู่จัดส่งมาให้อย่างแน่นอน

ต่อเนื่องมาถึงการวางระบบทำงานหลังบ้าน ที่มีการตกลงกับคู่ค้าที่ฝากขายสินค้า ตัวอย่างจากร้านของคุณแอม ยุทธนา ที่ร้านจะรับผิดชอบ เคลมสินค้าของแบรนด์คู่ค้าที่นำสินค้ามาฝากขาย เพื่อดูแล และอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าที่เลือกซื้อผ่านทางร้านของคุณแอม

กรณีเครื่องปั่นอาหารเด็กเสีย ซึ่งตามปกติจะใช้เวลาดำเนินการรวมการจัดส่งสินค้า ประมาณ 1 สัปดาห์ แต่สิ่งที่คุณแอมเล็งเห็นคือ ด้วยระยะเวลานั้น คืนนี้คุณแม่ (ลูกค้า) จะทำอาหารให้ลูกกินอย่างไร จากกรณีดังกล่าว ทางร้านจะส่งสินค้าตัวใหม่ให้ลูกค้าก่อน แล้วจึงเป็นส่วนของร้านกับแบรนด์คู่ค้าในการแลกสินค้าเคลมกันในลำดับถัดไป

เมื่อหมดช่วงเฝ้าระวังแล้ว ทำยังไงถึงจะเชื่อมต่อประสบการณ์ Offine กับ Online?

ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าไม่ว่าจะติดต่อมาทางช่องทางไหนก็คือ ร้านเดียวกัน ประสานให้พนักงานทุกคนทำงานและทราบข้อมูลกันได้อย่างราบรื่น คือ ระบบ โปรแกรม Excel ก็ถือเป็นระบบอย่างนึง ซึ่งช่วยในการเก็บข้อมูล ชื่อ เบอร์โทรศัพท์ และหมายเหตุ
ถ้าหากวางแผนการใช้ฐานข้อมูลร่วมกันในทุกช่องทางของร้าน เหมือนเป็นการได้คุยกับพนักงานคนเดียวกันกับที่ลูกค้าได้เจอที่หน้าร้าน

การทำ crisis management หรือ การเชื่อมต่อประสบการณ์ที่ดี ระบบ จะเป็นตัวช่วย เมื่อคุณมีพนักงานมากกว่าหนึ่งคน มีร้านมากกว่าหนึ่งสาขา จะต้องมีตัวเชื่อม ที่คุณจะสามารถใช้ฐานข้อมูลร่วมกันได้ กำหนดข้อมูลที่ใช้เป็นตัวกลางในการจัดเก็บข้อมูล เช่น ใช้เบอร์โทรศัพท์ ในการค้นหาและระบุ ประวัติการซื้อ ความชอบของลูกค้า หรือมีข้อร้องเรียนเรื่องอะไร เท่านี้พนัดงานก็สามารถเห็นในสิ่งเดียวกัน และร้านก็จะมีข้อมูลที่มีค่ากับการขายของเรา

คาถาขายดี 3 คำ “ตอบไว ใส่ใจ ส่งเร็ว” – คุณหนึ่ง ธัญญ์นิธิ

การตอบไว สำคัญมากในยุคออนไลน์ ตามที่ได้มีการพูดถึงไปแล้ว
ใส่ใจ คือ การที่เรารับผิดชอบลูกค้า รวมถึงการให้ความช่วยเหลือที่นอกเหนือจากสินค้าและบริการของร้าน
ส่งเร็ว การเตรียมตัว สอบถามข้อมูลกับทางหน่วยงานขนส่ง เพื่อให้ส่งสินค้าก่อนการตัดรอบสุดท้ายในแต่ละวัน ในกรณีของไปรษณีย์ไทย EMS ลูกค้ากรุงเทพฯ และปริมณฑล จะได้สินค้าในวันรุ่งขึ้น

จากประสบการณ์ ของคุณหนึ่ง ธัญญ์นิธิ การทดลองใช้บริการขนส่งอื่น ในช่วงเวลาที่มีโปรโมชั่น เพื่อลดต้นทุน แต่ใช้เวลาจัดส่งนานถึง 4 วัน ทางร้านจึงยอมที่จะจ่ายในราคาปกติ เพื่อที่จะรักษาเวลา ให้ลูกค้าได้ของที่รวดเร็วดีกว่า อีกทั้งยังสร้างความสบายใจให้กับลูกค้าที่ต้องรอหลังการชำระเงินให้กับทางร้านมาก่อนด้วย จึงเป็นที่มาของคาถา 3 คำ

ทั้งหมดนี้ คือการสร้างคุณค่าให้กับแบรนด์ ผ่านการสร้างคุณค่า 2 อย่าง

  1. การสร้างคุณค่าในเรื่องราว / คอนเทนต์ ที่นำไปสู่ การมองเห็น การซื้อโฆษณา และอื่นๆ คอนเทนต์ยิ่งมีความหมายกับลูกค้า ยิ่งช่วยให้เราทำงานง่ายขึ้น
  2. การสร้างคุณค่าในความสัมพันธ์ สร้างพื้นที่ของเราในใจของลูกค้าให้ใหญ่ขึ้น เพื่อที่จะให้ลูกค้าอยู่กับเราไปอีกนานๆ

คุณจี๊ป สุรศักดิ์ แนะนำว่าการเริ่มขายของออนไลน์ เริ่มต้นจาก Branding สร้างเรื่องราว ดึงหัวใจของแบรนด์ออกมา ถ้าไม่รู้จะขายอะไร ให้ลองคิด ว่าอยากขายใคร ซึ่งคนที่เราอยากขาย มีปัญหาอะไรที่เค้าอยากแก้เป็นอย่างแรก แล้วค่อยเริ่มจากตรงนั้น

คุณแอม ยุทธนา ใช้หลักการเดียวกัน มาใช้ในการคิดคอนเทนต์ง่ายๆ ของเครื่องดูดฝุ่นไร้สาย จากคนที่รักความสะอาด แล้วเห็นว่าเส้นผมอยู่บนพื้นตลอด นำไปสู่การถ่ายภาพ พร้อมการตั้งคำถามชวนคิดว่า คุณจะหยิบไม้กวาดมากวาดทุกชั่วโมงมั้ย นี่คือการสร้างคอนเทนต์จากปัญหา เพื่อบอกว่าคุณมาช่วยแก้ปัญหาอะไรให้ลูกค้า

“แต่ถ้าเรามีสินค้า เมื่อจะสร้างแบรนด์ คำถามคือ สินค้าเราดีกว่าคู่แข่งอย่างไร และจะโดนใจลูกค้า สร้างคุณค่า สร้างประโยชน์ให้ลูกค้าอย่างไร นั่นคือ Branding”

การส่งไว ก็เป็น Branding, บรรจุภัณฑ์ที่ดี ข้างนอกชำรุด แต่สินค้าไม่เสียหาย ก็คือ Branding และนี่คือสิ่งที่เราสร้างขึ้น ไม่ใช่จากการทำคอนเทนต์ หรือเนื้อหา แต่ต้องมาจากจุดเริ่มต้นของธุรกิจเรา ว่าทำประโยชน์ หรือสร้างคุณค่าอะไรให้ผู้บริโภค

“สินค้าที่ขายเหมือนกัน แต่ละร้านก็มีจุดต่างที่ทำให้ไม่เหมือนกัน ซึ่งราคาเป็นเรื่องที่เปรียบเทียบง่ายที่สุด แต่สิ่งที่ยากกว่า คือประสบการณ์ที่ให้ลูกค้าไม่เหมือนกัน”

อย่างที่ยกตัวอย่าง การรับเปลี่ยนสินค้า เครื่องปั๊มนม หากต้องใช้เวลาดำเนินการถึง 7 วัน คุณแม่(ลูกค้า) คงยอมซื้อชิ้นใหม่ ถือเป็นต้นทุนประสบการณ์ที่ลูกค้ามองเห็นว่า ร้านเข้าใจในความสำคัญของสินค้าที่มีต่อลูกค้า

Branding จึงเกิดจากสิ่งที่สามารถใช้ให้เป็นประโยชน์ และสร้างประสบการณ์ แล้วค่อยนำมาเล่าให้คนฟังเป็น Story telling นั่นเอง

ถ้าสินค้าของเรา มีลูกค้าเป็นผู้สูงวัย ขายในออนไลน์จะดีมั้ย แล้วควรจะเป็นช่องทางไหน?

กรณีลูกค้ากลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ให้ทำการตลาดกับลูกค้า โดยไม่คาดหวังการซื้อ เพราะการซื้อจะมาจากลูก/หลาน หลักการเดียวกับสินค้าเด็กอ่อน ที่พ่อแม่เป็นผู้ซื้อ คำถามคือ ทำยังไงให้เกิดความสนใจ จนนำไปสู่การฝากซื้อ ซึ่งช่องทางที่ลูกค้ากลุ่มนี้ใช้งานบ่อยครั้ง คือ Line จากการส่งข้อความทักทายที่ใช้อยู่เป็นประจำ และ Youtube ที่สามารถเลือกกลุ่มเป้าหมาย ของคนวัยนี้ เช่น แจ้ ดนุพล, The Impossible เราลองหาวิธียิงโฆษณาไปหา ให้เกิดการไปบอกความต้องการ ที่ลูก หลาน จะหาข้อมูล และซื้อมาให้

เคล็ดลับ การยิงโฆษณา Facebook ให้เกิดยอดขาย

ข้อแรกที่สำคัญ คือ ห้ามซื้อโฆษณา ผ่านมือถือ ระบบการซื้อบนมือถือ จะเป็นการซื้อ Engagement base คือ เป็นการซื้อการมองเห็น คนที่มามักจะกดไลค์ แชร์โพสของเรา แต่ไม่ใช่คนที่ซื้อ อีกส่วน คือ การทำเทส โดยการแบ่งเงินเพื่อซื้อโฆษณาในลักษณะที่ต่างกัน 2-3 แบบ ทดลองให้รู้ว่าคอนเทนต์ไหน หรือกลุ่มเป้าหมายไหน ทำให้เกิดยอดขายจริง แล้วค่อยลงเงินก้อน กับโฆษณาตัวนั้น

จากประสบการณ์ของคุณหนึ่ง ธัญญ์นิธิ มีลูกค้าที่ทักแชทมาสั่งสินค้าที่เพิ่งลงโฆษณา ทั้งที่ไม่ได้กดไลค์ จนถึงลูกค้าที่สั่งซื้ออเดอร์ใหญ่ แต่ไม่กดไลค์เพจ ทราบได้จากกล่องข้อความของเพจจะมีข้อมูลกดไลค์ของลูกค้าที่มีต่อเพจของเรา เมื่อเชิญให้กดไลค์เพจ ลูกค้ามองว่าไม่จำเป็น เมื่อต้องการซื้อจะทักมาเอง เราจึงต้อง เลือกจุดประสงค์ของการทำโฆษณาให้ถูกต้องก่อน

การเลือกจุดประสงค์ของการทำโฆษณาให้ลึก ทำอย่างไร

  • ขั้นตอนแรก เข้าไปที่ การจัดการโฆษณา ผ่านคอมพิวเตอร์
  • ตั้งกลุ่มเป้าหมาย จากความเข้าใจไลฟ์สไตล์ลูกค้า
  • เลือกใช้เครื่องมือโฆษณา ให้ตรงวัตถุประสงค์

ยกตัวอย่างสินค้าสมอลเวิลด์ฟอร์คิดส์ เป็นสินค้าแม่และเด็ก ไม่ได้ตั้งเป็นกลุ่มคนตั้งครรภ์อย่างเดียว แต่ตั้งว่า คนที่สนใจเครื่องปั๊มนม ซึ่งคนที่สนใจมักจะเป็นคุณแม่อยู่แล้ว

“การเลือกกำหนด ความสนใจ (Interest) ที่ไม่มีคนนึกได้ จะทำให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่ไม่ช้ำ” ความหมายคือ กลุ่มเป้าหมายที่เห็นโฆษณาของเราจะไม่ถูกโฆษณาประเภทอื่นส่งโฆษณาหา

ยกตัวอย่าง คนขายเสื้อผ้า ตั้งความสนใจว่า H&M หรือ Zara ก็คือ คนที่สนในเสื้อผ้า ก็จะทำให้กลุ่มเป้าหมายแคบขึ้น

“เวลาคุณจะทำโฆษณษา ควรเลือกกลุ่มเป้าหมายที่กระชับ ไม่ใช่กลุ่มที่มีขนาดใหญ่เกินไป”

อธิบายให้เห็นภาพ คือ เมื่อคุณต้องการจะยิงโฆษณา กลุ่มเป้าหมายมีประมาณ 7 ล้านคน คุณกำหนดเงิน 150 บาท Facebook จะให้คนเห็นประมาณ 1,000 คน จะต้องใช้เวลากี่วันที่คนจะเห็นครบ

สูตรที่สมอลเวิลด์ฟอร์คิดส์ใช้ มี คือ ทำคอนเทนต์เพื่อให้คนรู้จัก ให้คนเห็นเยอะ แล้วเลือกคนที่ดูโฆษณานั้น มาเกณฑ์กำหนดเป็น กลุ่มคนที่จะยิงโฆษณาขายของใส่ ในลำดับต่อไป

เครื่องมือ Reach ช่วยให้คนเห็นจำนวนมาก เพิ่มจำนวนการเข้าถึง เงิน 1,000 บาท ทำให้คนเห็นโฆษณา 100,000 คน หลังจากนั้น คุณค่อยเริ่มขายของ จากกลุ่มคนที่รู้จักคุณแล้ว ด้วยเครื่องมือส่งข้อความ หรือสิ่งอื่นต่อไป

ท่านสามารถเข้าไปรับชม ย้อนหลังได้ที่ Facebook fanpage : MAT Society
และขอฝากให้ทุกท่านติดตามรับชมสด ทุกวันอังคาร เวลา 2 ทุ่มตรง


ผู้เขียน
MAT TEAM

สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย

สมัครรับข่าวสาร

logo