One of three columns
One of three columns
One of three columns

ธรินทร์ ธนียวัน ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงแชร์แนวคิดดัน GRAB สู่บัลลังก์อาเซียน

2.5k
SHARE

KEY FOCUS

  • การทำธุรกิจยุคใหม่มีหัวใจที่การสร้างพันธมิตร ธุรกิจเล็กไม่ต้องกลัวธุรกิจใหญ่ และทุกคนจะเติบโตไปพร้อมกันได้ด้วยการแชร์องค์ความรู้ แชร์ทักษะ และแชร์ผลกำไรร่วมกัน
  • โลกทุกวันนี้ไม่ได้สร้างความเท่าเทียมให้กับคนหมู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา จะมีคนเพียงหยิบมือเท่านั้นที่มีโอกาสเข้าถึงตำแหน่งงานที่ดีหรือศักยภาพทางเศรษฐกิจ แต่แพลทฟอร์มของแกร็บจะเปิดเวทีใหม่ให้กับคนทุกชนชั้นที่ตั้งใจทำงาน รวมถึงให้อิสระทางเวลา และความเป็นธรรมกับแรงงานไทยอย่างแท้จริง

ในระยะเวลาแค่รอบปีเศษที่ผ่านมา ‘แกร็บไทย’ (GRAB TH) ภายใต้การนำของแม่ทัพหนุ่มไฟแรง ทิน – ธรินทร์ ธนียวัน อดีตผู้บริหารสายการตลาดของธุรกิจอีคอมเมิร์ซชื่อดังอย่างลาซาด้า ได้สร้างพลวัติใหม่ๆ ที่เปิดตัวมาให้คนไทยได้ ‘ยิ้ม’ กันแบบไม่หยุด โมเดลการสร้างธุรกิจ ‘ซูเปอร์แอพ’ ของธรินทร์ ส่งผลให้ทั้งจำนวนลูกค้าและจำนวนผู้ให้บริการของแกร็บในทุกเซ็กเมนท์เติบโตขึ้นอย่างมหาศาล วิ่งแซงคู่แข่งทุกรายที่เคยอยู่ในตลาดนี้มาก่อนแบบไม่เห็นฝุ่น วันนี้นับเป็นความโชคดีที่โครงการ Insight Marketing Visit ของสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ได้เชิญชวนผู้ที่สนใจมานั่งฟัง ทิน – ธรินทร์ เล่าถึงกลยุทธ์ที่เขาพาแกร็บไทยมาสู่ความสำเร็จในวันนี้แบบเหนือเมฆ รวมถึงความฝันยักษ์ใหญ่ในอนาคตที่ผู้บริหารหนุ่มมั่นอกมั่นใจว่า “ขอเพียงรัฐเปิดไฟเขียวเมื่อไหร่ ผมจะทำให้แกร็บไทยเป็นเบอร์หนึ่งของอาเซียนให้ดู

GRAB ชื่อนี้ที่คนไทยต้องใช้ในทุกวัน

เราพอจะทราบกันอยูว่าธุรกิจของแกร็บในประเทศไทยเริ่มต้นจากกลุ่มบริการด้านการเดินทางคือ Grab Car และ Grab Taxi และ Grab Bike มาก่อน (หลังจากควบรวมธุรกิจของ UBER ในประเทศไทยมาด้วย) แต่สำหรับธรินทร์แล้ว เขามองว่าการเป็นเป็นเบอร์หนึ่งในเรื่องเดินทางนั้นยังไม่พอ อนาคตของแกร็บจะยิ่งใหญ่ได้ก็ต่อเมื่อเขาทำให้ทั้ง Grab Food (สั่งอาหาร), Grab Express (ส่งพัสดุ) Grab Pay (ระบบการชำระเงินออนไลน์) Grab for Business (บริหารจัดการเรื่องเอกสารสำคัญให้ภาคธุรกิจ) รวมถึงบริการอื่นๆ เช่น Grab Financial (ที่กำลังอยู่ในขั้นทดลองและพัฒนา) สามารถเติบโตขึ้นอย่างพร้อมเพรียงและส่งเสริมซึ่งกันและกันได้ครบวงจร

“ถ้าคุณเป็นหนึ่งในผู้ใช้แอพสิบล้านคนของเรา คุณจะเห็นว่าเซ็กเมนท์ของเราในปัจจุบันแตกย่อยลงไปเยอะมาก เฉพาะในกลุ่มการเดินทางเรามีทั้ง Grab Bike, Grab Car, Grab Car Plus, Grab Premium, Grab SUV, Grab Luxe, Grab Van, Grab Rent เพราะหัวใจของงานบริการที่เจาะตลาดสาธารณะคือเราต้องนำเสนอโปรดักท์ให้ได้ทุกระดับ ทำให้ทุกคนพึงพอใจตามโจทย์ชีวิตที่แตกต่างกันไปในแต่ละวัน”  ธรินทร์ยกตัวอย่างบริการของ Grab Delivery ที่เขาเพิ่งจะยกระดับให้เป็น ‘ออนดีมานด์’ ได้ทั้งหมด โดยจับมือกับพันธมิตรในเครือเซ็นทรัล และท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ตแล้วเป็นที่เรียบร้อย

“ถ้าลูกค้าเลือกสั่งของจากท็อปส์ผ่านเรา เรารับประกันว่าออร์เดอร์จะถึงมือคุณภายในไม่เกินชั่วโมงครึ่ง นี่ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทั้งเราและคู่ค้าไปพร้อมกัน”

จากบริการย่อยๆ สู่อีโค่ซิสเต็มเต็มระบบ

ด้วยวิชั่นที่ต้องการแก้ปัญหาการเดินทางของผู้คนจากจุด A ไปจุด B ให้มีความสะดวก ปลอดภัย และสบายใจเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจกลุ่มแรกคือ Grab Transport จึงค่อยๆ เติบโตขึ้นบนโมเดลที่ทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการรู้สึก ‘วิน – วิน’ ทั้งสองฝ่าย แต่เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นมาถึงจุดหนึ่ง (ที่มีคนใช้เป็นหลักแสนต่อวัน) ธรินทร์ก็เริ่มเล็งเห็นว่าทัชพอยท์ที่แกร็บมีกับคนไทยนั้นสามารถจะต่อยอดไปสู่บริการอื่นๆ ได้อีกมาก เขายกตัวอย่าง Customer Journey ในฝันว่า “คุณตื่นมาเตรียมตัวไปทำงาน คุณเรียก Grab Car มารับไปประชุมข้างนอก ประชุมเสร็จเรียกก็ Grab Express ไปส่งเอกสารให้ลูกค้า มื้อกลางวันคุณใช้ Grab Food สั่งอาหารซะหน่อย ช่วงบ่ายก็ให้ Grab Express วิ่งไปรับเอกสารกลับจากลูกค้าอีก แป๊บๆ ถึงตอนเย็นคุณก็ต้องกินข้าวละ ถ้าไม่มีนัดที่ไหนคุณก็สั่ง Grab Food มากินที่บ้าน ทีนี้พอเสาร์อาทิตย์คุณออกไปเดินห้างพักผ่อน คุณก็เอาพอยท์ที่สะสมมาตลอดทั้งวีคนี้ไปแลกซื้อของนู่นนี่ได้ด้วย”  ธรินทร์ค่อยๆ เล่าให้ทุกคนเห็นภาพว่าเขาฝันจะสร้างแกร็บให้เป็นอีโค่ซิสเต็มขึ้นมาอย่างไร และการทำงานร่วมกับพันธมิตรใหม่ๆ จะเข้ามาช่วยสร้างคุณค่าให้กับผู้ใช้ได้อย่างไรบ้าง

“ธุรกิจสมัยนี้ต้องอาศัยพันธมิตรครับ ธุรกิจเล็กจับมือกับธุรกิจยักษ์ใหญ่ได้ไม่ยากเลยเพราะโลกเราเปลี่ยนเร็วมาก ธุรกิจใหญ่เขารู้ตัวว่าเขาวิ่งตามไม่ทันถึงแม้บุคลากรเขาจะเก่ง แต่ก็เป็นคนเก่งอีกแบบที่ไม่ได้มีชุดทักษะเหมือนคนเจนใหม่ ซึ่งองค์กรอย่างเรานี่แหละที่จะไปช่วยเติมเต็มและสร้างผลประโยชน์ร่วมกับกลุ่มธุรกิจใหญ่ๆ ได้”

ธรินทร์เล่าต่อว่า Grab Financial คืออีกหนึ่งกลุ่มบริการที่เขาเชื่อว่าจะมีอนาคตที่สดใสมาก “ทุกวันนี้ผู้บริโภคทั่วไปยังไม่ได้สัมผัสชัดเจน แต่กับพี่ๆ คนขับของเรา เราปล่อยกู้ไปให้เยอะมากๆ แล้ว เชื่อผมไหมทุกวันนี้แกร็บเป็นหนึ่งในลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของซัมซุงประเทศไทยนะ แค่ภายในห้าเดือนผมซื้อสินค้าจากซัมซุงให้พี่คนขับเขาผ่อนกันมากกว่าสมัยที่อยู่ลาซาด้าซะอีก” นี่คืออีกหนึ่งบริบทที่ตอกย้ำว่าแม่ทัพหนุ่มคนนี้กำลังสร้างอีโค่ซิสเต็มทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นใน ‘ครอบครัวแกร็บ’ แบบจริงจัง นอกจากนี้เขายังมีแผนที่จะขยายธุรกิจออกไปให้ครอบคลุมต่างจังหวัดมากขึ้นในปี 2019 ข 2020 จากปัจจุบันที่แอคทีฟอยู่แล้วในกว่า 16 จังหวัด

“นอกจากบริการในกลุ่มยานพาหนะแล้ว Grab Food ก็เป็นอีกธุรกิจที่น่าสนใจมากๆ ของเรา” ธรินทร์กล่าว “เรากระโดดขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจฟู้ดได้ตั้งแต่ไตรมาสสามของปีที่แล้ว เฉพาะจากการให้บริการในกรุงเทพ และตามหัวเมืองใหญ่ที่มีนักท่องเที่ยวเช่นหาดใหญ่ เชียงใหม่ ขอนแก่น โคราช และพัทยา ส่วนในปี 2019 นี้รายได้ไตรมาสแรกของ Grab Food ก็ก้าวกระโดดขึ้นมาเท่ากับยอดทั้งปีของปี 2018 ไปแล้วเรียบร้อย”

กลยุทธ์ดันแกร็บให้เป็น Everyday App for Everyone

ธรินทร์แชร์แนวคิดในมุมมองแบบมาร์เก็ตติ้งว่า เมื่อเป้าหมายของแบรนด์คือการเป็น Everyday App for Everyone ดังนั้นแบรนด์จะต้องเปลี่ยนภาพการรับรู้ในใจของผู้บริโภคให้ได้ก่อน “จากอดีตที่ผู้คนจำเราเป็นรถแท็กซี่ตลอดเวลา เราจะทำยังไงให้คนเขาเข้าใจภาพเราใหม่ ผมมองว่าการทำ CRM ร่วมกับพันธมิตรนี่แหละที่จะช่วยได้ นั่นคือที่มาของการผลักดัน Grab Food ให้โตเร็วและโตแรงที่สุด เพราะถ้าเราทำได้ภาพลักษณ์ของเราจะเปลี่ยนไปเองโดยอัตโนมัติ” และก็เป็นอย่างที่ชายหนุ่มว่า Grab Food คือบริการที่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคได้แบบพลิกฝ่ามือในระยะเวลาสั้นๆ เพียง 6 เดือน

“ทุกวันนี้มีคนใช้แอพเราประมาณหนึ่งล้านห้าแสนคนต่อวันครับ โดยเฉพาะ Grab Food ที่โตแบบก้าวกระโดดเลย ปี 2018 เราส่งอาหารได้ทั้งหมดประมาณ 3 ล้านออร์เดอร์ แต่ปีนี้แค่เฉพาะไตรมาสแรก เราทำไป 4 ล้านออร์เดอร์แล้ว ผมกะว่าจะปิดปีที่ 20 ล้านออร์เดอร์นะ แต่แค่นี้ผมก็ทำให้คนไทยเลิกคิดว่า Grab เท่ากับรถแท็กซี่ได้แล้วล่ะ”

นอกจากนี้ตลอดปีที่ผ่านมา ธรินทร์ยังพาแบรนด์แกร็บไปทำงานกับอีกหลายๆ กลุ่มธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการจับมือกับ BNK48 ให้มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ การจัดวิ่งมาราธอน จัดปาร์ตี้ EDM หรือกระทั่งจับมือกับ เนวิน ชิดชอบ (พรรคภูมิใจไทย) และธนาคารกสิกรไทยเพื่อทำกิจกรรมพิเศษร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น การจัดบริการพิเศษ Grab Transport เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวระหว่างการแข่งขัน Moto GP ที่บุรีรัมย์ เป็นต้น

“กิจกรรมที่เราทำทั้งหมดในปี 2018 มีจุดประสงค์ร่วมข้อหนึ่งที่เหมือนกันคือเราต้องการรีแบรนด์แกร็บในใจผู้บริโภคให้สำเร็จให้ได้”

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จของแกร็บในวันนี้เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของ ทิน – ธรินทร์ ธนียวัน ผู้ซึ่งทำให้คนกรุงเทพกว่าหนึ่งในสามกลายเป็น active user ของแกร็บได้สำเร็จ ซึ่งหากถามเขาว่าอะไรคือกลยุทธ์ที่เป็นหัวใจของแกร็บในอนาคต คำตอบของเขาคือการพัฒนาธุรกิจที่ไม่เข่นฆ่าใคร แต่เน้นการทำระบบที่เป็น partnership-centric เพื่อสร้างเครือข่ายพันธมิตร สร้างคู่ค้า และสร้างตลาดใหม่ๆ ร่วมกันกับธุรกิจอื่น  และที่สำคัญที่สุดคือการ ‘สร้างอาชีพ’ และ ‘สร้างประโยชน์’ ให้กับสังคมไทยในวงกว้างได้

ภาพประกอบ: MAT Team


ผู้เขียน
วิสาข์ สอตระกูล

อดีตนักโฆษณาที่ผันตัวมาเป็นนักเล่าเรื่อง นักเขียน และบรรณาธิการบทความด้านธุรกิจสร้างสรรค์ งานออกแบบ และวัฒนธรรมเมือง อย่างมีความสุข

CMO แมคโดนัลด์ เผยกลยุทธ์ Feel Good Moment ผูกใจลูกค้าทุกกลุ่ม

2.5k
SHARE

KEY FOCUS

– การพัฒนาสินค้าและบริการต้องตอบสนอง ‘เทรนด์การบริโภค’ ให้ได้อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และทันท่วงที
– หัวใจของการตลาดวันนี้คือการเรียนรู้พฤติกรรมและเข้าใจความรู้สึกของลูกค้าในทุกเซกเมนต์ให้ได้
– ใช้สื่อหลากหลายที่สามารถส่งเมสเสจที่ลูกค้าแต่ละกลุ่ม ‘อยากเห็น’ และ ‘เข้าถึงได้’ อย่างมีประสิทธิภาพ
– ธุรกิจ SMEs เริ่มต้นจากแพชชั่น แต่ต้องเป็นแพชชันที่แข่งขันได้ คือเป็นตัวของตัวเอง แต่ห้ามตกเทรนด์

ประสบการณ์กว่าสามทศวรรษกับ 245 สาขาทั่วราชอาณาจักรไทย ทำให้อาจกล่าวได้ว่า ‘แมคโดนัลด์’ เป็นแบรนด์หนึ่งที่เข้าอกเข้าใจความต้องการของคนไทยมาโดยตลอด แต่ถึงกระนั้น ในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงที่วิถีชีวิตของทุกคนกำลังถูก disrupt อย่างใหญ่หลวง ทั้งในเทรนด์การบริโภค พฤติกรรมการสั่งและส่งอาหาร การรับสื่อของคนยุคดิจิทัล ฯลฯ ทำให้ฟาสต์ฟู้ดอเมริกันหัวใจไทยอย่างแมคโดนัลด์ต้องปรับตัวไม่น้อยเช่นกัน

วันนี้สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยคุยกับ สนธยา ตั้งสันติกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาดบริษัทแมคไทย (CMO) ถึงแนวทางการบริหารแบรนด์และวิธีคิดใหม่ ๆ ของ ‘แมคโดนัลด์’ ในยุคที่ความหลากหลายคือโจทย์สำคัญที่สุด

คนไทยวันนี้มีตัวเลือกการบริโภคอาหารที่หลากหลายมาก ทั้งอาหารญี่ปุ่น เกาหลี ปิ้งย่าง สุกี้ ชาบู  แมคโดนัลด์ตอบรับกับความท้าทายนี้อย่างไร
ค่านิยมการรับประทานที่หลากหลายขึ้นทำให้เกิด share of stomach จริงค่ะ เพราะเวลามีแบรนด์ใหม่เข้ามา ใคร ๆ ก็อยากไปลอง แต่แมคโดนัลด์เราโชคดีที่ยังมีฐานลูกค้าจำนวนหนึ่งที่ชอบทานเบอร์เกอร์ของเราอย่างสม่ำเสมอ ชาบูอาจจะเจาะตลาดวัยรุ่นได้ แต่แมคโดนัลด์เราเจาะทั้งครอบครัว ผูกมิตรกับคนทุกวัย และตั้งใจเข้าถึงความต้องการของคนในทุกเซกเมนต์

ตอนนี้เทรนด co-working space มาแรง เราก็จัดปลั๊กไฟให้คนนั่งมาทำงานกันเลย ถ้าคุณไปที่อื่นอาจจะไม่มีอาหารเป็นเรื่องเป็นราว แต่ที่แมคฯ เรามีทั้งมีล สแน็ค และกาแฟให้คุณครบ

กลยุทธ์วันนี้คือเราต้องศึกษาว่าผู้บริโภคแต่ละเซกเมนต์ต้องการอะไรแล้วสนองความต้องการนั้นให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานที่ เมนูอาหาร ฯลฯ อย่างบางสาขาเราไม่ได้เน้นครอบครัวเพราะอยู่ในอาคารสำนักงาน แต่ถ้าสาขาที่เน้นกลุ่มครอบครัวเราก็จะมีน้อง ‘GEL’ (Guest Experience Leader) คอยอำนวยความสะดวกให้เป็นพิเศษ เพราะกลุ่มครอบครัวจะมีความต้องการเฉพาะเช่น เวลาคุณพ่อคุณแม่ไปสั่งอาหารที่เคาน์เตอร์ คุณลูกมักจะไม่ชอบต่อคิว แต่จะให้ทิ้งเขาไว้ที่โต๊ะก็คงไม่ได้ แมคโดนัลด์เราจึงเปิดรูปแบบบริการใหม่ ๆ ให้ลูกค้าสั่งอาหารผ่านตู้ หรือเลือก Table service ที่อาหารจะมาเสิร์ฟถึงโต๊ะเลย นอกจากนี้ภายในร้านก็จะมีของเล่นไว้เอาใจบรรดาคุณลูก ๆ ด้วย

แปลว่าแต่ละสาขามีสินค้าและบริการไม่เหมือนกัน
ส่วนใหญ่เมนูจะเหมือนกันหมดค่ะ ยกเว้นบางสาขาที่เปิดสายก็จะไม่มีเมนูอาหารเช้า แต่รายละเอียดงานบริการอันนี้จะไม่เหมือนกัน 100% คือทุกครั้งที่เปิดสาขาเราต้องดูกลุ่มเป้าหมาย เช่น สาขาในตึกออฟฟิศ เราจะมีโต๊ะเดี่ยวริมหน้าต่าง หรือสาขาที่นักท่องเที่ยวเยอะ ก็จะมีป้ายภาษาจีน หรือมีพนักงานที่พูดจีนได้ เป็นต้น มาร์เก็ตติ้งต้องลงไปดูว่าลูกค้าในละแวกไหนมีความต้องการพิเศษอะไร เพื่อที่เราจะออกแบบประสบการณ์ที่เหมาะสมให้กับเขาได้ เรื่องนี้หมายรวมถึงการออกแบบร้านด้วย ตอนนี้แมคโดนัลด์เรากำลังพัฒนาดีไซน์ของร้านใหม่ โดยจะให้ความสำคัญกับโจทย์ของลูกค้าแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มครอบครัวเก้าอี้จะนิ่มกว่า อะไรอย่างนี้เป็นต้น

จุดยืนของแมคโดนัลด์คือการสร้าง Feel Good Moment เป็นโมเมนต์ของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกันไป

ในท้องตลาดมีเทรนด์อาหารใหม่ ๆ เกิดขึ้นเสมอ เช่น ก่อนนี้ฮิตชาเขียว ตอนนี้ฮิตไข่เค็ม วิถีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของแมคโดนัลด์ช่วงนี้เป็นอย่างไร จำเป็นหรือไม่ที่ต้องตามเทรนด์พวกนี้
คำตอบคือเราใส่ใจเทรนด์เสมอค่ะ วิถีการพัฒนาสินค้าของแมคฯ ก็คือการดูเทรนด์อาหารนี่แหละ ฝ่ายวิจัยพัฒนาต้องทำงานควบคู่กับมาร์เก็ตติ้งตลอด เพื่อจะเคาะกันว่าเราจะพัฒนาเมนูอะไรใหม่ๆ ได้บ้าง ซึ่งทุกปีเราต้องมีเมนูใหม่ตลอด

ช่วงหลังแคมเปญโฆษณาของแมคโดนัลด์เหมือนจะแผ่วลงไป แบรนด์ได้เปลี่ยนกลยุทธ์อะไรหรือไม่ อย่างไร
เราเปลี่ยนการใช้สื่อค่ะ ในอดีตเราใช้ทีวีเป็นหลัก แต่ตอนนี้เราใช้สื่อออนไลน์ทั้ง Facebook, Twitter, Instagram, YouTube ฯลฯ  เมสเสจที่คน ๆ หนึ่งได้เห็นอาจจะน้อยกว่าเมื่อก่อน แต่มันเป็นเมสเสจที่คน ๆ นั้นอยากเห็นมากขึ้น มันมีความ personalize เฉพาะบุคคล เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ใช้สื่อน้อยลง เราแค่เปลี่ยนกลยุทธ์การใช้สื่อ แต่เดิมการสื่อสารของแมคโดนัลด์ค่อนข้าง traditional แต่ครึ่งปีหลังนี้คุณจะได้เห็นอะไรที่ non-traditional มากขึ้น เราพยายามหาวิธีใหม่ ๆ ในการเข้าถึงลูกค้า อย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้เราเพิ่งทดลองลงโฆษณาในเพจ จส.100  เพราะศึกษามาแล้วว่าก่อนคนจะออกจากออฟฟิศมักจะเช็กเพจ จส.100 กันก่อน ปรากฏว่าใน 3 ชั่วโมงนั้นเราได้ 244 คอมเมนต์ 196 แชร์ 2.7k ไลก์ ซึ่งถือว่าเยอะมากสำหรับแมคโดนัลด์ ก็เป็นวิธีการเข้าถึงลูกค้าที่ disruptive มากขึ้น

ปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มยอดขายและรักษาฐานลูกค้าของธุรกิจอาหารคืออะไร
คือการปรับตัวตามผู้บริโภคค่ะเช่น ถ้าดิจิทัลมา เราก็ต้องดิจิทัลตาม ถ้าเทรนด์การใช้ food aggregator (แอพสั่งอาหาร) เป็นที่นิยม เราก็ต้องเป็นแบรนด์แรกๆ ที่ร่วมมือกับ food aggregator เหล่านี้ การปรับตัวเร็วจะช่วยให้แบรนด์รักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าได้ พูดง่าย ๆ ถ้าเราส่งอาหารได้เร็ว  ลูกค้าได้รับอาหารเร็ว มันก็วินวินทุกฝ่าย แต่การปรับตัวตามเทรนด์ก็ต้องมีจุดยืนด้วย บางแบรนด์ปรับจนงงไปหมด เราต้องยึดหลัก be true to who you are ด้วย

คุณมองภาพรวมตลาดกาแฟในประเทศไทยอย่างไร และวางตำแหน่งของแมคคาเฟ่ไว้ที่จุดไหน
ดุเดือดมากค่ะ (หัวเราะ) ถ้าจะแบ่งง่าย ๆ ก็มีตลาดแมส ตลาดพรีเมียม ตลาดสตรีทฟู้ด แมคคาเฟ่เราอยู่ระหว่างแมสกับพรีเมียม เราใช้เมล็ดกาแฟพันธุ์อาราบิกาแท้ที่มาจากระบบ fair trade 100% เครื่องชงเรามีแรงดันเหมาะสมตามมาตรฐานสากล คุณภาพเป็นพรีเมียม แต่ราคาไม่ใช่ เพราะเรารู้สึกว่าแมคโดนัลด์ควรจะเข้าถึงคนทุกกลุ่ม นั่นคือจุดยืนด้านราคาของเรา ส่วนจุดยืนด้านประสบการณ์คือการให้ลูกค้าได้ดื่มกาแฟพรีเมียมในบรรยากาศที่คุ้นเคย สามารถเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ ไม่ต้องเกร็งเหมือนเวลานั่งร้านกาแฟพรีเมียม อย่างสาขาที่เน้นกลุ่มครอบครัวเราก็จะมีไอศครีมมินิโคนแจกเด็ก ๆ และมีมุมให้เด็กเล่น  คุณพ่อคุณแม่สามารถมานั่งดื่มกาแฟแก้วโปรดได้โดยที่ลูกไม่เบื่อ หรือกลุ่มเพื่อนก็นัดกันมาคุยเฮฮาได้เต็มที่

ปัจจัยที่ช่วยรักษาฐานลูกค้าและดึงดูดลูกค้าใหม่ของธุรกิจร้านกาแฟในปัจจุบัน
หัวใจอยู่ที่ความเสมอต้นเสมอปลายของสินค้าและบริการ ซึ่งขึ้นอยู่กับทั้งวัตถุดิบที่ใช้และบาริสตาด้วย จากการวิจัยเราพบว่าลูกค้าดื่มกาแฟเมนูเดิมทุกวัน เขากลับมาเพราะต้องการความรู้สึกนั้น ทีนี้เราจะทำยังไงให้เขาได้รับความรู้สึกนั้นแบบสม่ำเสมอ อันนี้คือหัวใจ คนอาจจะพูดเรื่องเทรนด์กันเยอะเช่น มีกาแฟใส่ไข่เค็ม (หัวเราะ) แต่สำหรับแมคคาเฟ่เราเชื่อในมาตรฐานความเสมอต้นเสมอปลายที่สุด

ความท้าทายของนักการตลาดในปัจจุบันและอนาคต
สำหรับแมคโดนัลด์ซึ่งเป็นแบรนด์ที่มีฐานลูกค้าเดิมอยู่ ความท้าทายคือการบาลานซ์ความพึงพอใจของลูกค้าเก่าไปพร้อม ๆ กับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่เพื่อตลาดอนาคต การจะรักษาสมดุลที่ว่านี้คือคุณภาพสินค้าและบริการของเราต้องดีเหมือนเดิม แต่เราเพิ่มนวัตกรรม เพิ่มเทคโนโลยี เพิ่มสินค้าใหม่ ๆ เพื่อดึงคนกลุ่มใหม่ ๆ เข้ามา อีกเรื่องหนึ่งคือการส่งมอบความคุ้มค่า หมายถึงราคาสินค้าจับต้องได้ในคุณภาพที่เหมาะสม สำหรับแมคคาเฟ่ถือว่ายังอยู่ในช่วงเติบโต ถือเป็นส่วนที่มาเติมเต็มประสบการณ์ของผู้บริโภคมากกว่า

คำแนะนำสำหรับเจ้าของธุรกิจ SMEs ด้านร้านอาหารและร้านกาแฟ
SMEs มีข้อดีที่ปรับตัวง่ายกว่าบริษัทใหญ่ คุณอาจจะเริ่มจากการดูคู่แข่งในละแวกพื้นที่เดียวกัน เช่น ถ้าอยู่ ๆ มีร้านกาแฟมาเปิดติดกัน ร้านคุณก็ต้องคิดว่าจะทำยังไงไม่ให้ลูกค้าย้ายร้าน ควรจะต้องมีโปรโมชันอะไรไหม ฯลฯ สำหรับ SMEs แนะนำให้ดูในระยะ 1-2 กิโลเมตรรอบตัวว่ามีใครทำอะไรบ้าง ต้องรู้เขารู้เรา มีเรื่องอะไรที่คู่แข่งยังไม่ได้ทำ แต่เป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ เราก็ต้องพัฒนาตัวเองทำสิ่งนั้นให้เก่ง

“บางคนคิดว่าหาช่องว่างทางธุรกิจเจอแล้ว แต่ถ้าคุณไม่ถนัดจริงคุณก็ไปไม่รอด จุดเริ่มของ SMEs มาจากแพชชั่น แต่ต้องเป็นแพชชั่นที่แข่งขันได้ด้วย”

ภาพประกอบ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร

CREATIVE JUICES

ถ้าให้เลือกเป็นเมนูในร้านแมคฯ คุณจะเลือกเป็นเมนูไหน
เฟรนช์ฟรายส์ค่ะ เพราะเป็น all-time favorite ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เฟรนช์ฟรายส์เราชนะทุกแบรนด์ (หัวเราะ) อีกเมนูที่อยากเป็นคือบิ๊กแมค เพราะครบครันทั้งความอร่อยและความอิ่ม แต่แปลกที่ยังไม่สามารถกลับมาเป็นที่หนึ่งได้ รู้สึกว่าเป็นอะไรที่ท้าทาย

คุณใช้ชีวิตและทำงานในต่างประเทศมาหลายปี มีข้อคิดอะไรอยากแชร์ให้เพื่อนนักการตลาดบ้าง
บางทีคนไทยชอบคิดว่าเราไม่เก่งเท่าคนต่างชาติ สู้คนต่างชาติไม่ได้ ซึ่งไม่จริง คนไทยเรามีความคิดสร้างสรรค์สูงมาก ฉะนั้น เราต้องมั่นใจในตัวเอง ใช้สติในการเรียบเรียงความคิดออกมา ข้อดีของคนไทยคือเราไอเดียดี แต่บางทีเราอาจจะพรีเซนต์ออกมาไม่ค่อยดีนัก เจ้านายหรือผู้ฟังจึงไม่เข้าใจ เมื่อไม่เข้าใจก็พาลคิดไปว่าไม่ดี  ซึ่งถ้าเราฝึกซ้อมและหาวิธีสื่อสารไอเดียออกมาให้เป็นระบบได้ นั่นจะทำให้เรามีคุณค่าในองค์กรขึ้นมาทันที

ภาษาสำคัญก็จริง…แต่ไม่ใช่ที่สุด
ขอให้เราสามารถสื่อสารความคิดได้ก็เพียงพอแล้ว ในองค์กรระดับนานาชาติมีคนมากมายจากประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่แต่มีตำแหน่งหน้าที่การงานใหญ่โต เพราะความเก่งของบุคลากรไม่ได้วัดกันที่ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษค่ะ เราวัดกันที่ความคิดสร้างสรรค์ ที่ไอเดีย และการเรียบเรียงไอเดียนั้นออกมาให้คนอื่นเข้าใจได้มากกว่า

และข้อสุดท้ายที่สำคัญมากๆ คือความกล้า คุณต้องกล้าแสดงความคิดเห็นที่คุณเชื่อ กล้าก้าวออกจากประเทศ ออกจากคอมฟอร์ทโซน สำหรับนักการตลาดรุ่นใหม่ๆ ถ้ามีโอกาสเข้ามาก็น่าจะไปลอง

More Image

ผู้เขียน
ชัชรพล เพ็ญโฉม

ชอบคิด ชอบเขียน ชอบเดินทาง ชอบชิม ชอบดู ชอบฟัง ชอบสิ่งเร้าจิตทั้งปวง

ดันคราฟท์ไทยไปให้สุดขอบโลก ตอบเทรนด์ธุรกิจร่วมสมัยด้วยไดอะล็อกใหม่ของภูมิปัญญาดั้งเดิม

2.5k
SHARE

KEY FOCUS

  • เทรนด์ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Business) และการสื่อสารแบรนด์ด้วย
    ความจริง (Authentic Brand) เป็นแนวทางการพัฒนาธุรกิจเพื่อซื้อใจกลุ่มผู้บริโภค
    Gen Y เป็นหลัก เพราะคนกลุ่มนี้ใส่ใจกับระบบนิเวศแวดล้อม (Ecosystem) รวมถึงผู้คน
    ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากวงจรการผลิตและการบริโภคอย่างแท้จริง (Stakeholders)
  • ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ องค์การมหาชน (SACICT) จัดทำเทรนด์การพัฒนางานหัตถศิลป์ (Craft Trend) มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อชี้ช่องทางในการประยุกต์ทักษะและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เข้ากับเทรนด์การบริโภคร่วมสมัย
  • นโยบาย Creative Thailand ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มุ่งพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการท้องถิ่น ด้วยการนำความคิดสร้างสรรค์มาผลักดันแบรนด์ย่อยๆ จากเมืองรองไปสู่เวทีการขายสินค้าระดับนานาชาติ
  • การจัดตั้งสมาคมผู้ผลิตสินค้าดีไซน์ของภาคเอกชน (The Design and Objects Association) นับเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ขับเคลื่อนความได้เปรียบด้านการตลาดอย่างได้ผล ทั้งในด้านการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ และการสร้างภาพลักษณ์ให้กับสินค้าดีไซน์ของไทยในภาพรวม

ทุกวันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่าพัฒนาการของเทคโนโลยี ส่งผลให้สินค้าและบริการในแทบทุกอุตสาหกรรมต้องปรับตัว อย่างก้าวกระโดด (Digital Disruption) เห็นได้จากบทวิเคราะห์เทรนด์ทางการตลาดของเอเชียในปี 2019 ที่กล่าวถึงนวัตกรรมด้านการเงินอย่าง Fintech การพัฒนา OMNI Channel ในวงการค้าปลีก การเติบโตของเทคโนโลยี AI ในงานบริการและระบบออโตเมชั่นภายในบ้าน เรื่อยไปจนถึงตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ 24/7 หรือเทคโนโลยีชื่อแปลกอย่าง HyIntelligence ที่จะใช้โดรนเป็นเครื่องมือสื่อสารการตลาดและสื่อโฆษณาในอนาคต

แต่นอกเหนือไปจากประเด็นที่เทคโนโลยีกำลังครองโลกการบริโภคนี้ เรายังมองเห็นเทรนด์สำคัญอีกกระแสหนึ่ง ที่เป็นบทสะท้อนของการบริโภคที่ผิดเพี้ยนมานานจากวัฒนธรรมวัตถุนิยม นั่นก็คือเทรนด์ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (หรือ Sustainable Business) ที่ทุกวันนี้ได้กลายมาเป็นคำตอบสุดท้ายของหลายๆ แบรนด์ที่ต้องการผูกสัมพันธ์กับมนุษย์ Gen Y หรือประชากรโลกรุ่นใหม่ที่มีอายุไม่เกิน 35 ปี  ด้วยว่าค่านิยมของคน Gen Y นี้ไม่ได้มองหาแค่สินค้าหรือบริการที่ดูดีใช้ดีเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศ (Ecosystem) และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มในวงจรการผลิต (Stakeholders) ดังนั้นธุรกิจหรือแบรนด์ใดๆ ที่มีความโปร่งใส จริงใจ ตรวจสอบได้ และดำเนินธุรกิจเพื่อผลกำไรที่ควบคู่ไปกับการใส่ใจชุมชนและสิ่งแวดล้อม (Authentic Brand) ก็จะกลายเป็นแบรนด์ที่น่าคบหาของผู้บริโภคกลุ่มนี้ขึ้นมาทันที

ประเด็นเรื่อง Authentic Branding นี้คืออีกหนึ่งมุมมองของการพัฒนาธุรกิจ ที่เราอยากชวนคุณผู้อ่านร่วมสำรวจไดนามิกใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอุตสาหกรรม Craft & Design ที่กำลังเติบโตขึ้นมีนัยสำคัญ

สร้างสรรค์หัตถกรรมไทยอย่าง…ให้ยั่งยืนแท้จริง

ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในด้านบริบทการอยู่อาศัย พัฒนาการด้านเทคโนโลยี รวมไปถึงแหล่งทรัพยากรที่ลดน้อยถอยลงสวนทางกับประชาการที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้หัตถกรรมท้องถิ่น (local craft) ทั่วโลกจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อสืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมให้ยังคงอยู่เคียงคู่กับวิถีการบริโภคสมัยใหม่ได้ การปรับตัวที่ว่านี้นอกจากจะช่วยสืบสาน ‘คุณค่าเก่า’ ไม่ให้สูญสลายแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างวิถีชุมชนที่ยั่งยืนให้กับแหล่งงานหัตถกรรมต่างๆ ด้วย ซึ่งจะว่าไปปรากฏการณ์นี้ก็สอดคล้องกับเทรนด์ในโลกการตลาดที่กำลังมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืนแบบพอดิบพอดี

สำหรับในประเทศไทยเรา หนึ่งองค์กรภาครัฐที่สร้างผลงานได้โดดเด่นควรค่าแก่กล่าวถึงก็คือ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ องค์การมหาชน (SACICT) ผู้มีบทบาทเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ และช่วยสืบสานคุณค่าศิลปหัตถกรรมไทยไปสู่ตลาดสากล (ในเชิงพาณิชย์) มาอย่างยาวนาน และแนวทางการทำงานหนึ่งที่นับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการไทย ก็คือการจัดทำแนวโน้มทิศทางการพัฒนางานหัตถศิลป์ประจำปี (SACICT Craft Trend) ที่ระบุถึงการประยุกต์ทักษะภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เข้ากับเทรนด์การบริโภค ซึ่งสำหรับในปี 2019 นี้ พวกเขาประมวล craft trend ล่าสุดออกมาบนแนวคิด “Retelling the Detailing” ซึ่งหมายถึงการบอกเล่าเรื่องราวเดิมๆ ในแง่มุมใหม่ที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอหัตถศิลป์ดั้งเดิมด้วยวิธีการใหม่ อาจจะด้วยการลดทอนรูปทรง การปรับเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอย ฯลฯ  ทั้งนี้เพื่อให้งานคราฟท์ของไทยมีบุคลิกและฟังก์ชั่นที่สอดคล้องกับค่านิยมร่วมสมัยมากขึ้น สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม Gen Y ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

“หัตถกรรมไทยจะขายได้ในตลาดสากลก็ด้วยเอกลักษณ์ฝีมือช่าง วัตถุดิบเฉพาะถิ่น และอัตลักษณ์ด้านวัฒนธรรม ทำให้เกิดความเป็น Authentic Brand ในระดับชุมชนที่ต่อยอดเป็นธุรกิจเพื่อความยั่งยืนได้”

การตลาดของงานคราฟท์…ผลักดันภูมิปัญญาไทยไปนอกประเทศ

หลายปีที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) โดยสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อ
การค้า ได้เดินหน้านโยบาย Creative Thailand เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการท้องถิ่น ด้วยการ นำความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ มาผลักดันแบรนด์เล็กๆ จากเมืองรอง ให้ก้าวขึ้นสู่สปอตไลท์ในเวทีระดับนานาชาติได้ หากสังเกตกันดีๆ DITP เองก็ดำเนินกลยุทธ์ผลักดันงานคราฟท์ไทยในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การจัดโครงการ
บ่มเพาะผู้ประกอบการและนักออกแบบเลือดใหม่ พัฒนาทักษะด้านการออกแบบและต่อยอดธุรกิจ รวมไปถึงการให้ความรู้ด้านการตลาด การสร้างแบรนด์ การทำแผนธุรกิจ การเจรจาเพื่อการค้าที่สัมฤทธิ์ผล ฯลฯ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อการส่งออกผ่านงานแสดงสินค้าต่างๆ ที่มุ่งเป้าเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของโลก

“หนึ่งกลยุทธ์ที่น่าสนใจคือการโปรโมทสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ในชิ้นงานคราฟท์ แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของหัตถกรรมที่ผูกโยงกับภูมิศาสตร์ท้องถิ่นอย่างชัดเจน เช่น ศิลาดลเชียงใหม่ นิลเมืองกาญจน์ เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง มุกภูเก็ต ผ้าตีนจกแม่แจ่ม เป็นต้น”

นอกจากนี้ DITP ยังเป็นตัวกลางในการพาสินค้าและงานสร้างสรรค์ของนักออกแบบไทย ไปจัดแสดงยังไลฟ์สไตล์แฟร์ที่ดีที่สุดในหลายๆ มุมโลก ยกตัวอย่างเช่นงาน Maison & Objet ณ กรุงปารีส ที่ล่าสุดเราไปจัดแสดงผลงานกันในลักษณะ Exhibition X Pop-up Shop นำแนวคิด ECLECTIC SIAM มาสร้างความเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์และศิลป์ของหัตถกรรมไทย (ที่ขัดแย้งแต่ก็กลมกลืนกันอยู่ในที) ซึ่งได้รับความสนใจจาก Buyer หลากหลายประเทศ ทั้งเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เม็กซิโก ญี่ปุ่น ฯลฯ

ที่สำคัญหนึ่งแบรนด์เล็กๆ ของผู้ประกอบการไทยอย่าง PATAPiAN ยังสามารถคว้ารางวัล ASEAN Design Selection กลับบ้านมาได้สำเร็จ ในฐานะแบรนด์ไทยหนึ่งเดียวที่ได้รับการยกย่องให้เป็น ‘สินค้าที่เหมาะสมกับตลาดญี่ปุ่น’ บนแนวคิดการประยุกต์วัสดุท้องถิ่น (เช่นไม้ไผ่จากนครนายก ไม้ยางจากภาคใต้) เข้ากับการดีไซน์ร่วมสมัยและเทคนิกการสานแบบดั้งเดิม …ตอกย้ำความเป็น Authentic Brand ที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ชุมชนต้นกำเนิดไปในตัว

ตะโกนพร้อมกันย่อมเสียงดังกว่า…กลยุทธ์สร้างคราฟท์ไทยให้โดดเด่นในเวทีโลก

หลังวิกฤตการเงินในทวีปเอเชีย (วิกฤตต้มยำกุ้ง พ.ศ.2540) ผู้ประกอบการ นักออกแบบ เจ้าของโรงงาน และผู้ส่งออกสินค้าภายใต้แบรนด์ไทย ได้หันหน้าจับมือกันสร้างกลุ่มพันธมิตรและริเริ่มงาน Bangkok International Gift Fair (งาน BIG) ขึ้นเป็นครั้งแรก จวนจนปัจจุบันได้พัฒนาต่อยอดเป็นสมาคมผู้ผลิตสินค้าแนวดีไซน์ (The Design and Objects Association) ทำหน้าที่เป็นกลไกขับเคลื่อนสร้างความได้เปรียบทางการตลาด ‘แบบกลุ่ม’ ให้กับสินค้าดีไซน์ไทยในเวทีระดับสากล ยกตัวอย่างล่าสุดที่งาน Maison & Objet 2019 กรุงปารีส ศรุตา เกียรติภาคภูมิ ดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งแบรนด์ PiN Metal Art เล่าให้เราฟังว่า “ในครั้งนั้นแบรนด์ Yothaka นำผลงานการถักเชือกด้วยเทคนิกมาคราเม่ (Macrame’) มาออกแบบเป็นผนังบูธและเฟอร์นิเจอร์จำนวนหนึ่ง ในขณะที่แบรนด์ Korakot ก็นำทักษะการทำว่าวจุฬาของเขา และการมัดเงื่อนของชาวประมงจังหวัดเพชรบุรีมาทำเป็นของตกแต่ง ส่วนแบรนด์ PiN Metal Art ก็ใช้เศษเหล็กเหลือทิ้งจากโรงงานมาประดิษฐ์เป็นโคมไฟและเฟอร์นิเจอร์ตามที่เราถนัด”

“เวลาที่แบรนด์ไทยจับมือทำการตลาดร่วมกันมันทำให้ภาพลักษณ์ความเป็นไทยมีความชัดเจนมาก โดยเฉพาะงานหัตถกรรมจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ในแต่ละพื้นที่ กลายเป็นบูธ Talk of the Town ที่ชาวต่างชาติพูดเป็นเสียงเดียวกันว่านี่คือ Thai Pavilion ที่มีพลังมากที่สุด”

และสำหรับแบรนด์ไทยที่สนใจเปิดตลาดใหม่ในระดับนานาชาติ ทางสมาคมฯ ยังร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง TCDC จัดการอบรมในหัวข้อ ‘ไปแสดงงานต่างประเทศด้วยตนเองในงบประมาณจำกัด’ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่สนใจอยากไปแสดงงานในต่างประเทศแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร มารับฟังคำแนะนำและขั้นตอนการทำงานผ่านประสบการณ์จริงจากเจ้าของแบรนด์ชั้นนำ เช่น Yothaka, Bambunique, Korakot และ PiN “เป็นการแบ่งปันองค์ความรู้ด้านการจัดงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสื่อสารการตลาดที่สำคัญมากของงานคราฟท์และงานดีไซน์ไทยค่ะ” ศรุตากล่าว

จะเห็นได้ว่าไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนางานหัตถกรรมเพื่อตอบโจทย์เทรนด์ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน โดยอาศัยการตอกย้ำอัตลักษณ์ท้องถิ่นผ่านทักษะงานช่างและภูมิปัญญาโบราณ แต่สร้างสรรค์ ‘เรื่องเล่า’ ที่สดใหม่ และสื่อสารความเป็น Authentic Brand เพื่อตอบรับกับค่านิยมของผู้บริโภครุ่นใหม่ๆ ที่ ‘การสร้างภาพ’ กับ ‘โลกความจริง’ นั้นจะต้องจับมือไปด้วยกันอย่างแนบเนียนที่สุด

อ้างอิงข้อมูลและภาพ:

sacict.or.th
ditp-design.com
facebook.com/patapian
facebook.com/yothaka.intl
facebook.com/Korakot-aromdee-Design
facebook.com/Pin.Metal.Art

รูปเพิ่มเติม

ผู้เขียน
สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์

เป็นเหมือนร้านค้าสร้างสรรค์ที่ชวนให้ใครต่อใครมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตั้งแต่ภูมิปัญญาท้องถิ่นไปจนถึงดีไซน์ในอีกซีกโลก อีกมุมหนึ่งเขาคือคนล่องเรือ เดินเมืองเก่า ที่ไม่เคยหยุดเดินทางเพราะความหลงใหลวิถีชีวิตท้องถิ่น

พลิก-สลับ-สับ-เปลี่ยน ด้วย “ออสบอร์นเช็คลิสต์” กลยุทธ์การต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้ไม่ซ้ำใคร

31
SHARE

KEY FOCUS

  • แม้การคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จะเป็นเรื่องยาก แต่ ‘ออสบอร์นเช็คลิสต์’ (Osborn’s checklist) อาจช่วยให้คุณสร้างสรรค์หรือต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมให้เกิดเป็นของใหม่ขึ้นมาได้
  • น้ำหอม Nina Ricci และไอศกรีม Amorino จับมือกันสร้างสรรค์ความใหม่ผ่าน ‘ผลิตภัณฑ์ข้ามอายตนะ’ นั่นคือ Les Sorbets – น้ำหอมกลิ่นไอศกรีม และ Nina – ไอศกรีมกลิ่นน้ำหอม
  • ผ้าทอจากเส้นใยโลหะแบรนด์ Ausara Surface คือตัวอย่างของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยความใหม่ ที่ทำให้แบรนด์เล็กๆ ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วและโด่งดังไกลในระดับโลก

คำกล่าวที่ว่า “โลกนี้ไม่มีอะไรใหม่” นั้นไม่เกินเลยความจริงแม้แต่น้อย เนื่องจากทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนับตั้งแต่ระบอบการปกครองไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า ล้วนพัฒนาขึ้นจากการต่อยอดองค์ความรู้และวิทยาการที่คนรุ่นก่อน ๆ ได้เคยออกแบบไว้แล้วทั้งสิ้น ซึ่งสำหรับโลกธุรกิจ หากนักพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือเจ้าของแบรนด์ใดสามารถคิดค้น ‘ของใหม่’ ที่โลกนี้ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งดันไปตอบโจทย์หรือแก้ไขปัญหาในชีวิตของผู้คนในวงกว้างได้ ก็พนันได้เลยว่าธุรกิจหรือแบรนด์นั้นจะต้องประสบความสำเร็จอย่างสูงแน่นอน แต่อย่างไรก็ดี คงปฏิเสธยากว่าโอกาสที่ว่านั้นมันแทบจะเป็นหนึ่งในล้านเชียวแหละ เพราะการสร้างสรรค์สิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนนั้น…มันไม่ใช่เรื่องง่ายเอาเสียเลย

ด้วยเหตุนี้ อเล็กซ์ เฟกนีย์ ออสบอร์น (Alex Faickney Osborn) ผู้ก่อตั้งเอเจนซีโฆษณาระดับโลกอย่าง BBDO ซึ่งเป็นผู้คิดค้นกระบวนการระดมสมอง (Brainstorming) อันโด่งดัง ได้เคยนำเสนอเทคนิคการสร้างสรรค์ ‘ความใหม่’ ที่หลายคนอาจเคยได้ยินได้ฟังมาบ้างแล้วในชื่อ “ออสบอร์นเช็คลิสต์” (Osborn’s checklist) วิธีการสร้างสรรค์อันนี้ของเขาได้รับความนิยมสูงมากในวงการออกแบบผลิตภัณฑ์และการสื่อสาร ด้วยความที่มันนำมาประยุกต์ใช้งานง่าย และเหมาะกับงานที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์ใหม่อย่างที่สุด

Osborn’s checklist หรือแปลเป็นไทยว่า ‘รายการตรวจสอบของออสบอร์น’ นี้ประกอบด้วยวิธีการ 9 ข้อ ได้แก่

  1. เปลี่ยนวิธีใช้ – คุณตอบคำถามข้อนี้ว่าผลิตภัณฑ์ตัวเดิมของคุณนี้สามารถจะมีวิธีใช้งานแบบอื่นๆ ได้อีกไหม และทำได้อย่างไรบ้าง
  2. ปรับจากของเดิม ลองศึกษาดูว่าผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกันซึ่งมีอยู่แล้วในท้องตลาด สามารถจะนำมาปรับปรุงเติมความใหม่บางอย่างเข้าไปได้หรือไม่
  3. ดัดแปลงจากเดิ – ลองคิดวิเคราะห์ถึงรูปแบบผลิตภัณฑ์เดิมที่สามารถจะดัดเแปลงให้แตกต่างออกไปได้อีก เช่น รูปร่าง รูปทรง รส กลิ่น สี สัมผัส ฯลฯ
  4. เพิ่มคุณสมบัติ – เราสามารถจะเพิ่มคุณสมบัติใหม่ลงไปในผลิตภัณฑ์ตัวเดิมได้อีกหรือไม่ อาทิ เรื่องเวลา ความคงทน ความถี่ ความแข็งแรง ขนาด ความยาว ความหนา คุณค่า ส่วนผสม ฯลฯ
  5. ตัดทอนคุณสมบัติ หรือเราจะตัดทอนและลดคุณลักษณะที่เกินจำเป็นออกไปได้อีก เช่น ขนาด ความสั้น ความเตี้ย ความแคบ ความผอม ความเบา ความบาง ฯลฯ
  6. แทนที่ด้วยสิ่งใหม่ – ลองคิดถึงการแทนที่องค์ประกอบหรือแพทเทิร์นเดิมๆ ด้วยสิ่งใหม่ เช่น การแทนที่วัสดุ
    ขั้นตอน แหล่งพลังงาน สถานที่ วิธีการ เวลา อารมณ์ความรู้สึก เสียง ฯลฯ
  7. เปลี่ยนการจัดลำดับ – เราจะเปลี่ยนรูปแบบการจัดลำดับบางสิ่งบางอย่างในตัวผลิตภัณฑ์ หรือบริการเดิมนั้นได้อีกไหม อาทิ การสลับการจัดวางองค์ประกอบ การลำดับตำแหน่ง การกำหนดวิธีใช้งานก่อนหลัง ฯลฯ
  8. พลิก สลับ กลับข้าง – ลองเปลี่ยนสิ่งที่เป็นอยู่เดิมให้กลายเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามไปเลย อย่างเช่น กลับหัว-กลับหาง ข้างนอก-ข้างใน พลิกบทบาท-หน้าที่ ฯลฯ
  9. ผสมผสาน – ข้อนี้อาจหมายรวมถึงการผสมผสานระหว่างวัสดุ สี ลักษณะพื้นผิว รูปทรง ทิศทาง การจัดวาง หรือสิ่งของประกอบใดๆ ก็ได้

เช็คลิสต์ทั้ง 9 ข้อของออสบอร์นนี้หากจะว่าไปก็เคยถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในแทบทุกอุตสาหกรรม ซึ่งมีส่วนช่วยให้นักออกแบบ นักการตลาด นักพัฒนาผลิตภัณฑ์ สามารถสร้างสรรค์ผลงาน แนวคิดการสื่อสาร และต่อยอดผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีอยู่เดิม ให้ออกไปทำหน้าที่ใหม่ๆ ในชีวิตผู้บริโภคมาแล้วนับไม่ถ้วน ยกตัวอย่างที่น่าสนใจเช่น

น้ำหอม…อาหาร…สิ่งทอ ของธรรมดาๆ ที่ว้าวผู้บริโภคได้ด้วยวิธีคิดของออสบอร์น
“มันจะดีไหมนะ…ถ้ากลิ่นจากน้ำหอมสุดโปรดของคุณสามารถรับประทานได้

ในบรรดาอายตนะภายนอกทั้ง 6 อันได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และความรู้สึกทางใจ อาจกล่าวได้ว่า ‘รส’ และ ‘กลิ่น’ มีอานุภาพทรงพลังที่สุดในการสร้างและกระตุ้นความทรงจำ อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน (ผ่านการรับรู้ของประสาทสัมผัส) อย่างมากอีกด้วย

Nina Ricci แบรนด์โอต์กูตูร์จากประเทศฝรั่งเศสได้รังสรรค์น้ำหอมคอลเล็กชันใหม่ประจำปี 2019 ภายใต้ชื่อ Les Sorbets ซึ่งทีมงานกล่าวว่าพวกเขานำแรงบันดาลใจสำคัญมาจากไอศกรีมเจลาโตชื่อดังแบรนด์ Amorino ของอิตาลี  ทำให้น้ำหอมทั้ง 3 กลิ่นในคอลเล็กชันใหม่ล่าสุดนี้ (อันได้แก่ Les Sorbets de Nina, Les Sorbets de Luna และ Les Sorbets de Bella) มีส่วนผสมของพฤกษานานาพันธุ์ผสมกับกลิ่นที่ใช้ในไอศกรีมเพื่อสร้างสรรค์บุคลิกที่แตกต่างกันออกไป ทุกกลิ่นปรุงขึ้นจากแรงบันดาลใจและการตีความความหอมสดชื่นของไอศกรีมซอร์เบต์ บรรจุในขวดสีพาลเทล 3 สีคล้ายไอศกรีมเจลาโตของจริง ในขณะเดียวกัน Amorino ไอศกรีมเจลาโตแบรนด์ดังของอิตาลี ก็ได้รังสรรค์ไอศกรีมรสชาติพิเศษสำหรับฤดูใบไม้ผลิขึ้นในชื่อ “Nina” ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้กลิ่นดอกไม้นานาพันธุ์แบบเดียวกับน้ำหอมของ Nina Ricci เป๊ะ โดยงานนี้คนขายจะตักเสิร์ฟเป็นรูปดอกกุหลาบในโคนตามแบบฉบับของ Amorino และเป็นไอศกรีมรสพิเศษเฉพาะฤดูกาลที่มีจำหน่ายในช่วงเวลาจำกัดไม่กี่เดือนเท่านั้น

สังเกตว่าการร่วมมือกันระหว่างสองแบรนด์ดังนี้ นับเป็นอีกขั้นของการออกแบบผลิตภัณฑ์โดยสร้างคุณค่าใหม่ขึ้นจากการผสมผสานของสองสิ่งที่อยู่คนละโลกกัน แต่กลับมีความเชื่อมโยงกันเล็กๆ ในเชิงการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัส เราอาจจะเรียก “Les Sorbets” และ “Nina” ว่าเป็น “น้ำหอมกลิ่นไอศกรีมซอร์เบต์” หรือ “ไอศกรีมซอร์เบต์กลิ่นน้ำหอม” ก็ได้ แต่ผลิตภัณฑ์ทั้งสองนี้ก็เพียงนำเสนอแง่มุมใหม่ให้ผู้บริโภคยังคงใช้สินค้าเดิมๆ ผ่านอายตนะเดิมๆ แต่ด้วยความรู้สึกหรือประสบการณ์ที่แปลกใหม่ออกไปเท่านั้น!  ในเชิงการตลาดแล้ว งานนี้ไม่เพียงแต่จะสร้างการจดจำแบรนด์ที่ทรงพลังที่สุดในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนของปี 2019 แต่ยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับแบรนด์ทั้งสองได้อีกทางด้วย

อย่างไรก็ดี  Nina Ricci X Amorino ก็มิใช่สองแบรนด์แรกที่หยิบเอาเทคนิคนี้มาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ.2016 โรงแรม L’Hôtel de Vendôme ก็เคยผสมกลิ่น Rose Pompom ของน้ำหอมแบรนด์ดัง Annick Goutal เข้ากับชุดน้ำชายามบ่ายของโรงแรม และในปีต่อมา La Maison du Chocolat ร้านช็อกโกแลตบูติกของฝรั่งเศสก็เคยออกช็อกโกแลตกลิ่น Angel ขึ้นร่วมกับน้ำหอมแบรนด์ Thierry Mugler เช่นกัน  ซึ่งหากเรานำเรื่องราวเหล่านี้มาเปรียบเทียบกับ ‘ออสบอร์นเช็คลิสต์’ แล้ว ก็จะพบว่าผลิตภัณฑ์สุดว้าวต่างๆ ล้วนเกิดขั้นจากการปรับเปลี่ยน ผสมผสาน เพิ่มคุณสมบัติ ฯลฯ จนก่อเกิดเป็น ‘ของเก่าเล่าใหม่’ ที่น่าจดจำและพูดถึงกันปากต่อปาก

เช่นเดียวกันกับแบรนด์สิ่งทอเพื่อการตกแต่งของไทยอย่าง Ausara Surface ที่นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ก็ตีความคำว่า “ผ้า” “เส้นใย” หรือ “สิ่งทอ” ด้วยวิธีคิดและมุมมองใหม่ๆ จนเกิดเป็นนิยามที่ทรงเอกลักษณ์ขึ้นในวงการสิ่งทอเพื่อการตกแต่งระดับโลก  โดย Ausara Surface ได้ทดลองนำเอาโลหะอย่างทองแดง ทองเหลือง ดีบุก มาผ่านกระบวนการแปรรูปจนกลายเป็นเส้นใยขนาดเล็ก สามารถนำมาทอเป็นผืนผ้าขนาดใหญ่จนแบรนด์แฟชั่นระดับ Louis Vuitton ยังต้องมาเป็นลูกค้า (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากบทสัมภาษณ์ จารุพัชร อาชวะสมิต ว่าด้วยการแร่แปรธาตุกับนวัตกรรมสิ่งทอแนวดิ่ง) ซึ่งสิ่งที่ Ausara Surface นำมาพลิกแพลงสร้างความว้าวให้กับวงการก็คือองค์ความรู้ในตัววัสดุและความชำนาญในการผลิต ที่เมื่อนำมาผ่านเทคนิกการคิดสร้างสรรค์เพื่อหาความใหม่แล้ว  ก็ทำให้สามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาได้อย่างไม่จบสิ้น

 

ท้ายสุด หากนักพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือเจ้าของแบรนด์ท่านใดกำลังเกิดอาการ ‘ตัน’ ทางความคิดล่ะก็ เราอยากแนะนำให้คุณลองใช้ ‘ออสบอร์นเช็คลิสต์’ นี้กับงานวิจัยพัฒนาดูสักครั้ง เพราะมันอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการต่อยอดสินค้าหรือบริการของคุณ ให้กลับมา ‘ว้าว’ ผู้บริโภคอีกครั้งก็เป็นได้

เครดิตภาพ
www.ninaricci.com
vinsetgastronomie.com
grand-place.klepierre.fr

รูปเพิ่มเติม

ผู้เขียน
ชัชรพล เพ็ญโฉม

ชอบคิด ชอบเขียน ชอบเดินทาง ชอบชิม ชอบดู ชอบฟัง ชอบสิ่งเร้าจิตทั้งปวง

สืบสานมรดกคราฟท์ไทย ด้วยการตลาดยุคใหม่ที่คิดไม่เหมือนเดิม

2.5k
SHARE

KEY FOCUS

  • ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT) พลิกเกมปั้น ‘หัตถอุตสาหกรรมไทย’
    ด้วยกลยุทธ์คู่ขนาน ยกระดับคุณค่าและรสนิยมแบบใหม่ในเวทีสากล พร้อมส่งเสริม
    งานหัตถศิลป์ให้เป็นอาชีพเสริมในทุกชุมชน
  • การดัน ‘ครูช่าง’ และ ‘ทายาทช่างศิลป์’ ให้ทำงานได้อย่างมีศักดิ์ศรี คือวิธีบ่มเพาะ ทรัพยากรบุคคลที่ยั่งยืนที่สุด
  • การจะทำให้ธุรกิจหัตถศิลป์เติบโตได้ เด็กรุ่นใหม่ต้องอยากเข้ามาทำงานพวกนี้บนค่านิยม
    ที่ไม่เหมือนรุ่นพ่อแม่
  • งานคราฟท์ของไทยเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมาตลอด เราแค่ต้องทำให้มูลค่า
    ของผลงานมันสูงขึ้นได้ด้วยตัวเอง

สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยพูดคุยกับ ผ.อ.แป้ง – อัมพวัน พิชาลัย หัวเรือใหญ่แห่งศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ที่ในวันนี้คนรุ่นใหม่รู้จักกันในชื่อ SACICT เสียมากกว่า) แม้จะเข้ามาบริหารองค์กรด้านมรดกวัฒนธรรมนี้ได้เพียงสามสี่ปี แต่ผู้บริหารหญิงหัวก้าวหน้าท่านนี้ มีวิสัยทัศน์ที่ร่วมสมัยอย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอดหัตถศิลป์ไทยในทุกมุมของประเทศ

วันนี้เรานั่งคุยกับท่านในระหว่างออกทริป ‘SACICT จิตอาสา พัฒนาอาชีพ’  ที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งบทสนทนาต่อจากนี้จะไม่ทำให้คุณแปลกใจเลยว่าเพราะอะไรเธอถึงได้รับฉายาว่า “เจ้าแม่ร้อยโปรเจ็กท์” และคู่ควรอย่างยิ่งกับรางวัลสตรีนักบริหารดีเด่นประจำปี 2562 ในสาขาสตรีผู้บริหารภาคราชการ

เชิดชูคุณค่าระดับสากล X สร้างอาชีพให้ชุมชนยั่งยืน

ต้องยอมรับจริงๆ ว่าแม่ทัพหญิงท่านนี้เธอวางเป้าหมายให้กับการพัฒนาองค์กรในระยะสามปีไว้แบบเกินร้อย อาจจะเรียกว่าเป็นการพลิกเกมใหม่หมดตั้งแต่วันที่เธอยืนยันกับคณะกรรมการบริหารทั้งชุดว่า “ดิฉันจะตั้งชื่อเรียกองค์กรนี้ใหม่เป็นภาษาอังกฤษนะคะ จะให้สื่อมวลชนและคนทั่วไปเรียกว่า SACICT (อ่านว่า ศักดิ์-สิทธิ์) เพราะจากนี้ไปในอนาคตเราต้องเป็นองค์กรที่มีภาพลักษณ์แบบสากลแล้ว”

ผ.อ. อัมพวันเผยถึงแนวคิดการทำ ‘พันธกิจคู่ขนาน’ นั่นคือการยกระดับคุณค่าและมูลค่าของหัตถศิลป์ไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ และในขณะเดียวกันหัตถศิลป์ก็ต้องเป็นเครื่องมือช่วยสร้างรายได้ สร้างอาชีพเสริม และสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนหัตถกรรมต่างๆ ทั่วประเทศไปพร้อมกันด้วย “ตอนแรกที่บอกกับบอร์ดเรื่องเปลี่ยนชื่อเขาก็ลังเลกันนะคะ แต่ดิฉันบอกว่ายังไงก็จะเปลี่ยน เพราะเรื่องผ่าน ครม.แล้ว ดิฉันทำได้” เธอย้อนเล่าถึงภารกิจแรกพร้อมรอยยิ้มขัน

ครูช่างของแผ่นดิน ทรัพยากรมนุษย์ที่ต้องต่อยอด

โครงการเชิดชู ‘ครูช่างศิลปหัตถกรรม’ และ ‘ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม’ คือโปรเจ็กท์สำคัญอันหนึ่งที่ ผ.อ.อัมพวัน ตั้งอกตั้งใจทำมาตลอดตั้งแต่ยุคแรกๆ  โดยหลังจากที่เธอทราบจากทีมงานว่าศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศมีสมาชิกครูช่างและครูศิลป์ในระบบอยู่ถึงกว่า 300 ราย แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยได้ทำงานร่วมกันแบบลงรากลึก มีเพียงแค่การเรียนเชิญให้สมาชิกมาร่วมออกงานหรือแสดงผลงานในนิทรรศการต่างๆ บ้างเท่านั้น

“ดิฉันถามทีมงานแต่แรกว่าครูช่างมีบทบาทอย่างไรกับองค์กรของเราบ้าง คำตอบที่ได้กลับมาคือทุกท่านเป็นสมาชิกค่ะ บางท่านมาร่วมงานกับเราบ้างเป็นครั้งคราว ซึ่งดิฉันมองว่านั่นยังไม่พอหรอก เพราะคนเหล่านี้แท้จริงคือ asset ของชาตินะคะ  SACICT ต้องหาทางส่งเสริมครูที่มีศักยภาพให้ได้ต่อยอดองค์ความรู้อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เขาก้าวขึ้นมาเป็นผู้ที่มีพลังสืบสานมรดกได้อย่างแท้จริง”

“คำถามแรกคือเราจะทำอย่างไรให้ครูช่างส่วนใหญ่มีชีวิตที่สมเกียรติ มีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ดีตามสมควร และที่สำคัญคือเป็นบุคคลที่ได้รับความยกย่องจากคนรุ่นใหม่ๆ ในชุมชนก่อน”

เพราะหลักคิดทางการตลาดง่ายๆ เลยคือถ้าคุณอยากให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเรียนรู้เป็นทายาทหัตถศิลป์ อยากให้เขาสนใจที่จะสืบทอดภูมิปัญญา คุณก็ต้องทำให้เขาเชื่อก่อนว่าอาชีพนี้มันมีศักยภาพที่ดีในอนาคต เขามีโอกาสที่จะเติบโตไปสู่การเป็นนักออกแบบ เป็นศิลปิน หรือเป็นผู้ประกอบการหัตถอุตสาหกรรมที่มีฐานะมั่นคง สามารถดูแลตนเองและครอบครัวได้จริง”

ผ.อ.อัมพวัน พิชาลัย และ ครูช่างหัตถศิลป์ สิริวัฑน์ เธียรปัญญา ผู้ก่อตั้งแบรนด์ผ้าปักกองหลวง
หัตถกรรม VS กสิกรรม : วิถีชุมชนที่ต้องส่งเสริมกันและกัน

คำถามที่สองคือเมื่อครูช่างยินดีที่จะร่วมโครงการทำงานกับ SACICT แล้ว เขาจะเข้าไปถึงชุมชนห่างไกลต่างๆ ได้อย่างไรโดยให้คนในท้องถิ่นเหล่านั้นเปิดรับและอยากทำงานให้ครูช่างเป็นอาชีพเสริม

“อย่าลืมนะคะว่าชาวไร่ ชาวประมง หรือชาวเขาเผ่าต่างๆ แม้เขาจะมีทักษะหัตถกรรมพื้นฐานอยู่กับตัวอยู่แล้ว เช่น
ทอผ้าได้ ปักผ้าเป็น ทำเสื่อจักสาน เหลาไม้ได้ ฯลฯ แต่นั่นเป็นแค่ทักษะที่เขาใช้ในการดำรงชีวิตเท่านั้น มันไม่เคยเป็นอาชีพนะ อาชีพจริงๆ ของเขาคือการเกษตร การประมง การทำไร่ทำสวนทำนา ปศุสัตว์ ฉะนั้นโครงการสร้างอาชีพ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของ SACICT เราจะต้องไม่ไปเบียดเบียนวิถีดั้งเดิมตรงนั้น 

“เรากับครูช่างจะรู้กันว่างานที่เรานำพาเข้าไปในชุมชนนี้จะมีบทบาทเป็นอาชีพเสริมเท่านั้น และมันต้องไม่ไปทำลายวิถีดั้งเดิมของท้องถิ่นเขาด้วย”

ยกตัวอย่างในหมู่บ้านเล็กๆ บนดอยของชาติพันธุ์ ‘อาข่า’ และ ‘ลาหู่’ ที่เราได้เดินทางไปเยี่ยมชมระหว่างทริปนี้ ครูช่างสิริวัฑน์ เธียรปัญญา หรือ “ลุงปุ๊” ผู้ก่อตั้งแบรนด์ผ้าปักกองหลวง ได้ขึ้นไปเชิญชวนชาวบ้านให้มารับงานปักผ้าไปทำในเวลาว่าง โดยครูช่างจะเข้าไปเยี่ยมเยียนชุมชนเดือนละครั้ง เพื่อสอนงานปัก ‘สไตล์ร่วมสมัย’ ให้กับคนที่สนใจ พร้อมทั้งนำวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นขึ้นไปให้อย่างครบครัน

“เราวาดลายลงบนผ้าทอไปให้เสร็จสรรพครับ ลุงจะเลือกสีด้ายและแบ่งกลุ่มสีต่างๆ ไว้ให้เขาใช้อย่างชัดเจน
ชาวบ้านจะได้ไม่ต้องมาปวดหัวกับการคิดลายเอง ไม่งั้นทุกผืนจะออกมาเป็นลายสับปะรด ลายนก ลายไก่ เพราะชีวิตเขารายล้อมด้วยธรรมชาติเหล่านี้ ชาวป่าชาวเขามีข้อจำกัดในการเข้าถึงรสนิยมของตลาดร่วมสมัย ซึ่งเราเข้าใจนะ เขาไม่ได้ผิดอะไรเลย นั่นคือวิถีชีวิต”

“ดังนั้นเราจึงต้องวางโมเดลการทำงานร่วมกันกับชุมชนใหม่ว่าให้เขาใช้ ‘ทักษะ’ การทำงานมือ ซึ่งเขาทำเป็นปกติอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน มาต่อยอดเป็นอาชีพเสริมดีกว่า พอทำงานเสร็จก็รับค่าจ้างจากลุงไป แต่ต้องทำให้ได้ตามมาตรฐาน ทำตามโจทย์ที่ให้ ส่วนถ้าใครยังฝีมือไม่ถึง ลุงก็จะค่อยๆ สอนให้เขาเก่งขึ้นได้”

ในมุมหนึ่งเราเห็นด้วยว่าแนวคิดของลุงปุ๊มีศักยภาพที่จะทำให้ธุรกิจหัตถศิลป์เติบโตได้ และในขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยสืบสานทักษะให้คงอยู่ต่อไปในท้องถิ่น “เด็กรุ่นใหม่ที่อยากมีรายได้เขาก็สนใจมาทำงานพวกนี้เหมือนกัน” ลุงปุ๊เล่าถึงไดนามิกใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในระดับชุมชน

ศึกษาเทรนด์โลก + ถ่ายทอดแนวคิดร่วมสมัย = ยกระดับหัตถศิลป์ไทยสู่ดีมานด์ที่แท้จริง

เราทราบมาว่าอีกบทบาทหนึ่งของ SACICT ในการยกระดับงานฝีมือก็คือการต่อยอดเชิงเศรษฐกิจให้งานช่างต่างๆ สามารถขยายวงและเติบโตสู่ความเป็น ‘หัตถอุตสาหกรรม’ ได้ในอนาคต ซึ่งในประเด็นนี้ ผ.อ.อัมพวัน เผยว่า
เป็นเป้าหมายปักหมุดของเธอมาโดยตลอด แต่แน่นอนว่ามันไม่ใช่โจทย์ที่จะทำให้สำเร็จในเวลาอันสั้นได้ อย่างไรก็ดี
เครื่องมือหนึ่งที่ SACICT ได้นำมาใช้ในการผลักดันหัตถศิลป์พื้นถิ่นให้ ‘เชื่อมโยงกับตลาดร่วมสมัย’ ได้มีผลสัมฤทธิ์ก็คือการค้นคว้าและระบุ ‘เทรนด์การบริโภค’ เป็นแหล่งข้อมูลให้กับคนทำงานคราฟท์ระดับแถวหน้า และกลุ่มผู้นำในชุมชนช่างฝีมือต่างๆ ได้นำไปประยุกต์ใช้

“ทักษะงานคราฟท์ของคนไทยเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมาตลอด เพียงแต่เราจะทำอย่างไรให้มูลค่าของผลงานที่เราทำออกไปสู่ตลาดนั้นมันสูงขึ้นด้วยตัวเอง ไม่ต้องมาแข่งขันกันที่ราคาค่าจ้าง เพราะนั่นไม่ใช่แนวทางของการตลาดที่ยั่งยืน”

เชื่อว่านักการตลาดหลายๆ ท่านที่อ่านมาถึงจุดนี้น่าจะมีคำตอบในใจให้กับอนาคตของ ‘หัตถอุตสาหกรรมไทย’
กันบ้างแล้ว สำหรับเราเชื่อว่า

หนึ่ง วิถีการผลิตจำเป็นต้องปรับตัวได้บ้างเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อรายใหญ่
สอง แนวคิดผลิตภัณฑ์ต้องส่งเสริมให้คราฟท์ไทยไม่แปลกแยกจากบริบทชีวิตร่วมสมัยจนเกินไป และ
สาม การเล่าเรื่องแบบใหม่ (ของทักษะและภูมิปัญญาเดิม) จะสร้างเสน่ห์ที่คู่แข่งในวัฒนธรรมอื่นไม่มีวันลอกเลียนได้

เรามั่นใจว่าหากคนทำงานคราฟท์ทั่วประเทศซึมซับแนวคิดข้างต้นนี้ไปประยุกต์ใช้ได้บ้างแม้เพียงบางส่วน ก็น่าจะเป็นหนทางที่พาทักษะเดิมๆ ของพวกเขาให้เชื่อมโยงกับ ‘ดีมานด์’ และ ‘รสนิยม’ ของโลกยุคใหม่ได้มากขึ้น เพราะทุกวันนี้ผู้บริโภคเงินถึงต่างรอคอยที่จะเสพฝีมือช่างระดับห้าดาวกันอยู่แล้ว  รถไฟกำลังวิ่งมา…คุณแค่เกาะขบวนไปให้ถูกคันก็พอ!

เครดิตภาพ: SACICT

รูปเพิ่มเติม

ผู้เขียน
MAT TEAM

สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย

เมื่อชาว LOHAS คือผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ที่คุณต้องผูกมิตรเสียแต่วันนี้

2.5k
SHARE

KEY FOCUS

  • LOHAS ย่อมาจาก Lifestyle on Health and Sustainability หมายถึงกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ ไม่จำกัดอายุที่มองหาสินค้าและบริการอันเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งกายและใจ พวกเขาให้ความสำคัญกับนิเวศแวดล้อม กับชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมไปถึงผู้คนที่มีส่วนได้ ส่วนเสียทุกกลุ่ม (Ecosystem & Stakeholders)
  • สังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือสื่อสารที่สำคัญที่สุดในการสร้างความผูกพันกับชาว LOHAS
  • นอกจากสินค้าที่ต้องกรีนและไวท์กันเต็มตัวแล้ว พื้นที่ขายก็มีส่วนสำคัญในการมอบประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคกลุ่มนี้
  • LOHAS คือกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ได้มองหาความแมส ดังนั้นจึงตอบโจทย์ผู้ประกอบการ
    ขนาดเล็กได้อย่างดี

แม้ว่าการแบ่งสัดส่วนตลาดผู้บริโภคตามพฤติกรรมการบริโภค (Consumer Behavior) หรือช่วงวัยที่ต่างกัน (Generations) จะยังมีส่วนสำคัญไม่น้อยในโลกการตลาดปัจจุบัน แต่คำถามที่เราได้ยินบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ พฤติกรรมการบริโภคที่ต่างกันในแต่ละช่วงวัยนี้ “เพียงพอแล้วหรือไม่” ต่อการระบุกลยุทธ์ที่แม่นยำที่สุด ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตคนจนกลายเป็นเสมือนหนึ่งอวัยวะ เทคโนโลยีใหม่และไดนามิกของโลกดิจิทัลส่งอิทธิพลให้ผู้บริโภค ‘ทุกวัย’ เปลี่ยนแปลงทัศนคติ พฤติกรรม และวิถีการบริโภคกันอย่างรวดเร็วในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย การแบ่งปันข้อมูล การจับจ่ายซื้อของ และการรับบริการต่างๆ ผ่านแอพพลิเคชั่น

ทุกวันนี้ผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ต่างประกาศว่าการบริโภคสินค้าที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ใช่แค่เทรนด์เท่ๆ หรือสิ่งยั่วใจตลาดเฉพาะกลุ่มอีกต่อไปแล้ว เพราะผู้คนในโลกที่ชีวิตกำลังจะยืนยาวขึ้นเรื่อยๆ ล้วนต้องการ ‘การอยู่ดีมีสุข’ (Wellness) กันแบบจริงจัง  วันนี้เรากำลังจะพูดถึงกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดที่มาแรงที่สุดอย่าง LOHAS กลุ่มคนไม่จำกัดเพศวัยที่ให้เลือกคุณค่ากับการดูแลชีวิตและสิ่งแวดล้อมกันอย่างเต็มเหนี่ยว คนกลุ่มนี้มีนัยสำคัญ และสร้างผลกระทบให้กับโลกธุรกิจอย่างไรบ้าง เชิญติดตาม

ชาว LOHAS คือใคร

LOHAS เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีอยู่ในทุกช่วงอายุ (Generations) มีวิถีชีวิตและทัศนคติในการใช้ชีวิตที่แตกต่างไปจากผู้คนในตลาดแมสแบบดั้งเดิม นั่นก็คือพวกเขามองหาสินค้าและบริการที่ต้องส่งเสริมสุขภาพทั้งกายและใจ ให้ความสำคัญกับระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มในระบบการผลิตและการบริโภค (Ecosystem & Stakeholders) ด้วยเหตุนี้ ‘ความโปร่งใส’ ของสินค้าและบริการ (Transparency) จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจเลือกซื้อของคน LOHAS นับตั้งแต่แหล่งที่มาของวัตถุดิบ การใช้แรงงานอย่างเป็นธรรม กระบวนการผลิตที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและชุมชน เรื่อยไปจนถึงการขนส่งที่ประหยัดพลังงาน หรือเมื่อสินค้าหมดอายุเป็นขยะก็จะไม่ก่อให้เกิดมลพิษมากเกินไป เป็นต้น

จากงานวิจัยของ SevenOne Media (ประเทศเยอรมนี) พบว่ากลุ่มผู้บริโภค LOHAS ยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าและบริการที่มีจริยธรรมทางการค้า (Ethical Products) และพร้อมสนับสนุนสินค้าและงานบริการท้องถิ่นที่ตอบโจทย์ความต้องการ แม้ว่าแบรนด์ชุมชนเหล่านั้นจะมีขนาดเล็กแค่ไหนก็ตาม พฤติกรรมนี้ตอกย้ำให้นักการตลาดเล็งเห็นถึงความมุ่งมั่นของผู้บริโภคยุคใหม่ที่บริโภคแบรนด์ต่างๆ ผ่าน ‘คุณค่า’ มากกว่า ‘ราคา’ และก็ไม่น่าแปลกใจว่าเราจะพบผู้บริโภคชาว LOHAS นี้ในตลาดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Ecotourism) หรือไปตามชุมชนห่างไกลมากกว่าตามเมืองใหญ่ๆ …ทำไมน่ะรึ? ก็เพราะพวกเขาสนุกกับการเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆ รวมไปถึงภาษาและประเพณีท้องถิ่นมากน่ะสิ  คงไม่ผิดหากจะบอกว่าชาว LOHAS นี่แหละที่เป็นกลุ่มนำกระแสในวงจรการเปิดรับสินค้าและบริการใหม่ๆ (Product Adoption Cycle) รวมไปถึงเทรนด์การใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ ที่เน้นความยั่งยืน ความเป็นธรรม และความเห็นอกเห็นใจกันในสังคมด้วย

สื่อสารอย่างไร ซื้อใจชาว LOHAS

มนุษย์ LOHAS นับเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกิจกรรมเชื่อมโยงกับโลกดิจิทัลอย่างสูง ดังนั้นโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์จึงเป็นเครื่องมือสื่อสารที่สำคัญในการพูดคุย และสร้างความผูกพันกับพวกเขา นิสัยของผู้บริโภคกลุ่มนี้มักจะสืบค้นข้อมูลเบื้องต้นพร้อมขอคำแนะนำจากกลุ่ม ‘คนคอเดียวกัน’ (ที่มองคุณค่าของสินค้าและบริการรวมไปถึงมีวิถีการดำเนินชีวิตในแบบคล้ายๆ กัน) เป็นอันดับแรก พวกเขาจะเข้าถึงข้อมูลที่เป็นความจริงได้เร็วมาก และนักการตลาดไม่มีทางหลอกลวงพวกเขาได้เลยแม้แต่น้อย

“มันเป็นเรื่องสำคัญมากที่นักการตลาดจะต้องนำเสนอเรื่องราวของแบรนด์อย่างตรงไปตรงมา และไม่เว่อร์เกินจริง เพราะชาว LOHAS จะหันหลังให้คุณทันที ที่พบความไม่ชอบมาพากลในการสร้างภาพของคุณ”

แน่นอนว่านอกจากการสื่อสารการตลาดแล้ว การพัฒนาสินค้าและบริการที่ให้ความสำคัญกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม การดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ ล้วนเป็นคุณค่าที่มัดใจชาว LOHAS ได้อยู่หมัด รวมไปถึงการสร้างสรรค์พื้นที่ขายหรือหน้าร้านก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยในการสร้างประสบการณ์ร่วมระหว่างผู้บริโภคกับแบรนด์  เรียกได้ว่าทั้งโลกแห่งความจริงและโลกเสมือนจริงจะต้องมีทิศทางการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกันตลอด

ยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง LUSH ของประเทศอังกฤษที่ใช้แท็กไลน์ง่ายๆ ว่า “Fresh Handmade Cosmetics” แบรนด์นี้มีสาวกเป็นชาว LOHAS จริงจังเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์  แบรนด์สบู่และเครื่องสำอางเล็กๆ ที่ชูความเป็นท้องถิ่นและความแฮนด์เมดสุดๆ แบรนด์นี้ เติบโตขึ้นผ่านการบอกเล่าเรื่องราวบนโลกอินเทอร์เน็ต  หลายปีที่ผ่านมาในช่อง Youtube และ Facebook ของพวกเขาจะตอกย้ำอยู่เสมอว่า พวกเขาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพจากส่วนผสมที่ดีที่สุด โดยมั่นใจว่ากระบวนการผลิตทุกขั้นตอนมีความใส่ใจ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่มีการทดลองกับสัตว์เป็นอันขาด ทุกๆ การผลิตถูกนำมาเผยแพร่ผ่านโลกออนไลน์ พร้อมรายละเอียดว่าเพราะเหตุใดถึงได้นำผลไม้สด ดอกไม้สด น้ำมันหอมระเหย สารสกัดเข้มข้นจากธรรมชาติ บัตเตอร์ ฯลฯ มาใช้ร่วมกัน เรื่องราวต่างๆ ถูกเล่าอย่างซื่อๆ ตรงไปตรงมา ผ่านปากคำของพนักงานตัวจริง ที่ทำงานกันจริงๆ ด้วยความเชื่อและความภาคภูมิใจ

นอกจากนี้จุดเด่นที่ทำให้ผู้บริโภคร้องว้าวกันมาตลอดก็คือการที่ LUSH นำเสนอสินค้าเกือบทุกชนิดของพวกเขาแบบ ‘ไร้บรรจุภัณฑ์’ ซึ่งก็คือการสื่อสารทางอ้อมถึงแนวคิดการลดขยะและลดภาวะโลกร้อนไปในตัว แต่สำหรับผลิตภัณฑ์บางประเภทที่จำเป็นต้องใช้บรรจุภัณฑ์จริงๆ แบรนด์นี้ก็จะเลือกใช้บรรจุภัณฑ์จากวัสดุไซเคิล หรือวัสดุที่รีไซเคิลได้ เพื่อจำกัดผลกระทบที่แบรนด์จะมีต่อส่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด

ส่วนการจัดพื้นที่ขายภายในร้านที่นอกจากจะมีสีสันและกลิ่นอันหอมหวลแล้ว แบรนด์ยังกระตุ้นให้ลูกค้าทดลองใช้สินค้าผ่าน ‘มุมปาร์ตี้’ ที่เปิดช่องให้ชาว LOHAS ได้เล่นสนุกและสัมผัสกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ แบบ first hand อยู่เสมอ นี่ยังไม่รวมถึงการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ภายในร้านที่เน้นการโชว์เนื้อแท้ของวัสดุธรรมชาติเป็นหลัก

แบรนด์ไทยๆ ที่มัดใจชาว LOHAS

สำหรับในประเทศไทย ร้านค้าปลีกและแบรนด์สินค้าเพื่อสุขภาพที่เจาะกลุ่มชาว LOHAS นั้นมีอัตราการเติบโตที่สูงมาก ผู้ประกอบการบางรายหันมาผลิตสินค้าเพื่อคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ในขณะที่ร้านค้าหลายแห่งก็ขยายพื้นที่สำหรับผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเพื่อตอบรับความต้องการที่พุ่งขึ้นแบบติดจรวด ยกตัวอย่างเช่น Tops Supermarket ที่ริเริ่มมุมสินค้า ‘ออร์แกนิกมายช้อยส์’ คัดสรรแต่วัตถุดิบชั้นดีปราศจากสารเคมีในทุกขั้นตอนการผลิตมานำเสนอ หรือแบรนด์ ‘เนื้อหมูเนเชอรัล’ ที่สื่อสารถึงผู้บริโภคว่าเป็นหมูที่ผ่านการเลี้ยงตามธรรมชาติ ได้รับแสงแดดและอากาศบริสุทธิ์ในฟาร์มจังหวัดราชบุรี ทำให้หมูอารมณ์ดี แข็งแรง ปราศจากยาปฏิชีวนะและฮอร์โมน ผลลัพธ์คือเนื้อหมูมีความนุ่มชุ่มฉ่ำ ไขมันน้อย และเปี่ยมด้วยคุณประโยชน์ ฯลฯ

อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือคาเฟ่และร้านค้าเพื่อสุขภาพ Organic Supply ที่เปิดกิจการกันมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 บนความเชื่อที่ว่าการรับประทานอาหารที่ไม่ผ่านการแปรรูปและไม่มีสารเคมีใดๆ ไม่เพียงแต่จะดีกับผู้บริโภคเท่านั้น หากยังเป็นการร่วมสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อสิ่งต่างๆ บนโลกใบนี้ที่เราต้องใช้ร่วมกัน  แบรนด์เล็กๆ อย่าง Organic Supply คัดสรรสินค้าออร์แกนิกและแบรนด์เพื่อสุขภาพที่มีอยู่ในท้องตลาดมารวมกันให้ชาว LOHAS ได้เลือกซื้ออย่างสะดวก ทั้งอาหารสด อาหารแห้ง เครื่องดื่ม ฯลฯ รวมทั้งยังสนับสนุนผู้ผลิตสินค้าคุณภาพดีให้มีช่องทางการจำหน่าย และพื้นที่สื่อสารกับลูกค้าระดับพรีเมี่ยมด้วย ซึ่งด้วยเหตุผลนี้เองพื้นที่ภายในร้านจึงถูกออกแบบให้คล้ายกับ ‘ห้องนั่งเล่น’ จัดวางโต๊ะเก้าอี้ในลักษณะที่ส่งเสริมให้ผู้คนได้พูดคุยกัน เป็นสื่อกลางร่วมสร้างสังคมให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น

ท้ายสุด ไม่ว่าแบรนด์ของคุณจะคุ้นเคยกับกระแสการบริโภคของชาว LOHAS นี้มากน้อยแค่ไหนแล้วก็ตาม  แต่เราจำเป็นต้องตระหนักว่านี่คือกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดที่จะเติบโตและขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ นักการตลาดควรเร่งศึกษาทำความเข้าใจถึงค่านิยม และพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มนี้โดยเร็ว เพื่อจะนำมาปรับใช้กับการสร้างเรื่องราวที่เหมาะสม และสร้างเอกลักษณ์ให้กับสินค้าหรือบริการได้แบบเฉพาะเจาะจง เหมาะสมอย่างยิ่งกับผู้ประกอบการขนาดเล็กที่กำลังเริ่มต้น รวมไปถึงแบรนด์ชุมชน (community brands) ที่เติบโตขึ้นจากภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบแท้จริงด้วย

อ้างอิงข้อมูลและภาพ

cyberclick.es
ethos-marketing.com
organicsupply.bkk
digitalsurgeons.com

รูปเพิ่มเติม

ผู้เขียน
สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์

เป็นเหมือนร้านค้าสร้างสรรค์ที่ชวนให้ใครต่อใครมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตั้งแต่ภูมิปัญญาท้องถิ่นไปจนถึงดีไซน์ในอีกซีกโลก อีกมุมหนึ่งเขาคือคนล่องเรือ เดินเมืองเก่า ที่ไม่เคยหยุดเดินทางเพราะความหลงใหลวิถีชีวิตท้องถิ่น

CUSTOMER INSIGHTS ข้อมูลลูกค้าที่เป็นทั้งสมองและหัวใจในธุรกิจ

20
SHARE

KEY FOCUS

  • การเปิดโอกาสให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมกับแบรนด์อย่างเปิดเผยและจริงใจผ่าน Insight Communities จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับแบรนด์ที่ยืนยาว โดยเฉพาะเมื่อ
    ความเห็นของเขาถูกเอาไปใช้จริง
  • ยิ่งเราสร้างความสัมพันธ์ที่เปิดเผยกับกลุ่ม Insight Communities ได้มากเท่าไหร่ แบรนด์ก็จะได้ insights ที่น่าเชื่อถือกลับมาในมือมากขึ้นเท่านั้น
  • Consumer Insights คือสิ่งที่สร้างชีวิตให้กับแบรนด์ และการ personalize บทสนทนากับลูกค้าจะทำให้เขารู้สึกว่าเขากำลังสื่อสารกับคนที่พร้อมรับฟังและช่วยเหลือในสิ่งที่เขาต้องการได้
  • การเข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้งจะช่วยให้เราออกแบบประสบการณ์ที่สอดคล้องกับทัศนคติ
    ค่านิยม และวิถีชีวิตของพวกเขาได้ นำไปสู่ความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างแบรนด์กับลูกค้า ในแบบฉบับที่การตลาดสมัยอดีตไม่เคยทำได้

ในการตลาดแบบเดิมๆ คุณจะต้องทุ่มทุน ทุ่มเท และทุ่มทุกทางเพื่อให้ ‘ลูกค้าทำความรู้จักกับแบรนด์’ ­ของคุณให้เร็วที่สุด บ้างก็ทุ่มซื้อโฆษณา แจกสินค้าทดลอง จัดโปรโมชั่นต่างๆ แต่กับโลกธุรกิจวันนี้ที่ปัจจัยทุกอย่างถูก disrupt ใหม่หมด  หนทางเดียวที่จะทำให้ธุรกิจของคุณอยู่รอดกลับกลายเป็นว่า ‘แบรนด์ต้องทำความรู้จักกับลูกค้า’ ให้ได้เร็วที่สุด และ ‘เข้าใจพวกเขาอย่างลึกซึ้ง’ ให้เร็วยิ่งขึ้นด้วย

ในอดีต “เขา” คือคู่แข่ง แต่วันนี้ “เขา” คือลูกค้า วลี “รู้เขารู้เรา” ในบริบทที่เปลี่ยนไป

ท่ามกลางการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ งานบริการ และการตลาดที่ถาโถมรุนแรงในโลกดิจิทัล การจะทำให้ลูกค้าเป้าหมายจดจำแบรนด์เรา ชอบพอเรา และเลือกซื้อสินค้าหรือบริการของเราไปเรื่อยๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย  ดังนั้นแทนที่นักการตลาดจะทุ่มเงินเพื่อทำให้ “เขารู้จักเรา” แต่ “อาจปันใจให้คนอื่น” คุณควรจะต้องเอาใจใส่ลูกค้าเป้าหมายของคุณในแบบที่ทำให้เขารู้สึกว่า “พวกคุณพูดภาษาเดียวกัน” และ “คุณรู้ซึ้งถึงสิ่งที่เขาไม่ต้องพูด” นั่นล่ะที่จะทำให้ลูกค้าของคุณเชื่อหมดใจว่าคุณพร้อมที่จะส่งมอบผลิตภัณฑ์ บริการ และประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับเขาได้อย่างแท้จริง

ทุกวันนี้เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้การเข้าถึงข้อมูลหรือกระแสความเป็นไปต่างๆ เป็นเรื่องง่ายและขยายวงได้อย่างรวดเร็ว มนุษย์เราเข้าใจถึงสิ่งที่ตัวเองชอบได้ง่ายขึ้น และการแบ่งเซ็กเมนท์ผู้บริโภคก็ยิบย่อยเสียจนคุณต้องแน่ใจว่า คุณได้รู้จักชีวิตของลูกค้าแล้วในทุกมิติถึงจะขายของให้เขาได้  การทำความเข้าใจผู้บริโภคด้วยงานวิจัยแบบเดิมๆ (เช่นการใช้แบบสอบถาม) ไม่สามารถจะให้คำตอบที่เพียงพอสำหรับธุรกิจวันนี้อีกต่อไป

อย่างไรก็ดีเราต้องขอบคุณความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ได้พาวิธีการใหม่ๆ ในการเข้าถึงชีวิตและพฤติกรรมของลูกค้าได้อย่างเหนือชั้น ทำให้นักการตลาดสามารถ ‘ล้วงลูก’ ถึงที่มาที่ไปของแต่ละพฤติกรรม  วิธีคิด ทัศนคติ ความเชื่อ ฯลฯ ที่เราเรียกกันในวันนี้ว่า “Customer Insights” ได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วขึ้น  ซึ่งวิธีที่จะทำให้ได้มาซึ่ง customer insights นี้ก็มีหลายวิธีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยอย่างสบายๆ การสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ การเก็บข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย การแอบตามวิเคราะห์โพสต์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์และธุรกิจ เรื่อยไปจนถึงการเก็บข้อมูลจากแอพลิเคชั่น หรือการไปทดลองเป็นลูกค้าเสียเองเพื่อให้เข้าใจประสบการณ์ตรง ฯลฯ

ทุกวิธีการที่กล่าวมานี้ล้วนช่วยให้นักการตลาดเข้าถึง insights ของลูกค้าได้ในแง่มุมต่างๆ กัน และเราสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาประยุกต์ใช้กับทุกด้านของการพัฒนาธุรกิจ ตั้งแต่การออกแบบสินค้าหรือบริการ การสร้างแบรนด์ดิ้ง การทำคอนเทนท์ รวมไปถึงการเลือกใช้สื่อและเครื่องมือที่จะพูดคุยกับลูกค้าในแต่ละเซ็กเมนท์

3 ข้อคิดในการใช้ Customer Insights ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เพื่อให้นักการตลาดทำงานได้แบบมีทิศทางชัดเจนและมีประสิทธิภาพ ต่อไปนี้คือ 3 ข้อแนะนำในการใช้งาน Customer Insights ที่เราอยากให้คุณจำไว้ในสมองส่วนหน้าเสมอ

1) Insight Communities คือหัวใจแห่งสายสัมพันธ์

Insight Communities หมายถึงการรวมตัวของคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นทีมการตลาด ทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ กลุ่มผู้บริหาร และที่จะขาดไปไม่ได้ก็คือกลุ่มลูกค้าหรือคนที่สนใจในแบรนด์เรา  Insight Communities นี้ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในรูปของแพลทฟอร์มออนไลน์ที่แบรนด์สร้างขึ้น โดยมักจะทำในลักษณะของกลุ่มปิดสำหรับสมาชิกให้สามารถเข้ามาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ทั้งตัวสินค้า งานบริการ หรือแม้แต่เรื่องการสื่อสารของแบรนด์ไม่ว่าจะในเชิงบวกหรือเชิงลบ

ในโลกของ Insight Communities ความสัมพันธ์ของสมาชิกจะค่อยๆ พัฒนาขึ้นจากการได้แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา และเมื่อความเห็นต่างๆ ที่ถูกพูดถึงภายในกรุ๊ปได้รับการตอบสนองจากแบรนด์จนเห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้ ลูกค้าจะรู้สึกถึง ‘ความมีชีวิต’ ของแบรนด์นั้น ก่อให้เกิดเป็นความเชื่อใจ ความไว้วางใจ และรู้สึกอยากมีส่วนร่วมกับแบรนด์ต่อไปในระยะยาว  ทั้งนี้ผู้บริหารแบรนด์ควรเฝ้าติดตาม สังเกต ตอบสนอง และสร้างบทสนทนากับสมาชิกในกลุ่มอย่างสม่ำเสมอ เพราะข้อมูลที่ได้รับจาก Insight Communities มักจะส่งผลดีต่อทั้งยอดขายและต่อการสื่อสารแบรนด์ได้แท้จริง

2) ความเร็ว…ที่บางครั้งต้องแลกกับ…ความแม่น

Tyler Kettle ผู้จัดการฝ่าย International Insights ของ Google เคยกล่าวไว้ว่า “เป้าหมายสูงสุดของการทำวิจัยผู้บริโภคคือการลดความเสี่ยงก็จริง แต่หลายครั้งทีเดียวที่การทายผลวิจัยคร่าวๆ และนำไปใช้ทันที กลับสร้างผลลัพธ์ที่ดีกว่าการรอคอยข้อมูลที่ครบถ้วนแต่ช้าเกินไป…จนทำอะไรไม่ทันแล้ว” 

เราค่อนข้างเห็นด้วยว่าทุกวันนี้ความเร็วในการวิเคราะห์ข้อมูลบางส่วนที่ดีพออาจจะสำคัญกว่าความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลทั้งหมด ซึ่งเจ้าของแบรนด์และฝ่ายการตลาดจำต้องมีกึ๋นเพียงพอที่จะประเมินข้อมูลคร่าวๆ นั้นได้อย่างถูกต้อง เพราะวันนี้ใครที่เอาข้อมูลไปใช้ได้เร็วกว่าคือผู้ชนะ อย่างที่นาย Tyler Kettle บอกว่า “good enough is good enough”

นอกเหนือจากความเร็วในการนำข้อมูลมาใช้แล้ว การนำเสนอข้อมูลให้ผู้บริหารก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องใส่ใจ เพราะทุกวันนี้ไม่มีใครอยากฟังพรีเซนเทชั่นยาวๆ ที่เต็มไปด้วยตัวเลขและกราฟอีกแล้ว การนำเสนอ Customer Insights ควรจะเป็นสิ่งที่รวบรัด ได้ใจความ และผ่านการวิเคราะห์มาอย่างดีเพื่อให้เข้าใจง่าย ที่สำคัญคือกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และนำไปต่อยอดพัฒนาธุรกิจในแง่มุมต่างๆ ได้

3) ประสบการณ์ลูกค้าสำคัญที่สุดในโลก

บางครั้งเราก็คิดเข้าข้างตัวเองว่าการให้ลูกค้าทำแบบสอบถามน่าจะเป็นประโยชน์กับตัวลูกค้าเองในอนาคต แต่มันจริงหรือ? เพราะการสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้านั้นควรจะต้องเป็นไปในรูปแบบเฉพาะตัวสูงสุด (highly personalized) เห็นได้ง่ายๆ จากการโฆษณาในเฟสบุ๊คที่ถูกล้วนถูกอัลกอริทึ่มวิเคราะห์มามอบให้ตามความสนใจของเรา

กับการซื้อของก็เช่นเดียวกัน ข้อมูลการเลือกซื้อและชำระเงินในธุรกิจรีเทลทุกวันนี้ สามารถจะวิเคราะห์รูปแบบการซื้อ รวมถึงความสนใจในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของลูกค้าแต่ละคน และนำเสนอสินค้าที่น่าจะตรงใจเขากลับไปให้ได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นไม่ว่าคุณจะขายสินค้าผ่านช่องทางไหน จะมีหน้าร้านหรืออยู่บนโลกออนไลน์ นอกจากคุณภาพสินค้าที่ดีเลิศแล้ว การสร้างสรรค์ประสบการณ์เฉพาะตัวให้ลูกค้าแต่ละคนคือหัวใจสำคัญที่สุดของการตลาดยุคนี้

อ้างอิงข้อมูล:
How To Make The Most of Customer Insights, Tina Mulqueen (2019)
5 Top Reasons For Building A Customer Insights, Maxim Schram (2017)
What is an insight community, My-Take (2017)

ภาพประกอบ: pexels.com


ผู้เขียน
ณัฏฐิมา วิชยภิญโญ

ชีวิตที่ผสมการสื่อสาร การตลาด การเดินทาง การบริการ และการใช้ชีวิตอย่างรับผิดชอบต่อธรรมชาติไว้ด้วยกัน ชอบแลกเปลี่ยนความคิดและเรียนรู้ความต้องการของคนที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

9 แนวโน้มการตลาดแห่งทวีปเอเชียที่คุณต้องรู้

2.5k
SHARE

สหพันธ์การตลาดแห่งเอเชีย Asia Marketing Federation (AMF) และสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย จัดทำรายงานพิเศษในหัวข้อ ‘9 แนวโน้มการตลาดแห่งเอเชียที่น่าจับตามองในปี 2562′ โดยเป็นการจับความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงด้านการตลาดในภูมิภาคผนวกกับการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสมาชิกในทวีปเอเชีย

สหพันธ์การตลาดแห่งเอเชีย Asia Marketing Federation (AMF) เป็นองค์กรระดับภูมิภาคและเป็นเครือข่ายของสมาคมการตลาดในเอเชียที่มีภารกิจสำคัญในการมุ่งพัฒนาเครือข่ายและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาคมการตลาดในภูมิภาคเอเชีย อันจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ร่วมกันในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งได้แก่ ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง มาเก๊า สิงคโปร์ ไต้หวัน มองโกเลีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย พม่า กัมพูชา เวียดนาม ศรีลังกา และ บังคลาเทศ

1. Fintech นวัตกรรมด้านการเงินที่จุดกระแสความเปลี่ยนแปลงให้ธนาคารก้าวข้ามทุกข้อจำกัด

เมื่อผู้บริโภคก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลเต็มรูปแบบ การทำธุรกรรมทางการเงินของบุคคลทั่วไปได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และช่องทางก็เพิ่มมากขึ้น  ธนาคารพาณิชย์จึงมีการปรับตัวเพื่อตอบรับความต้องการหลายด้าน อาทิ ด้านการให้บริการต่างๆ รวมถึงแพลตฟอร์มการชำระเงินออนไลน์ที่คล่องตัวและตรงความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น

และธนาคารเริ่มกล้าที่จะก้าวข้ามขีดจำกัดแบบเดิมๆ และหันมามองนวัตกรรมใหม่ๆที่จะเอื้อประโยชน์กับผู้บริโภค และเริ่มใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) โดยมีการวิเคราะห์เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์และเกิดความแม่นยำมากขึ้น เช่น การประเมินเครดิตลูกค้ารูปแบบใหม่ ผ่านการวิเคราะห์การใช้จ่ายของพวกเขามากกว่าการตรวจสุขภาพการเงินแบบเดิมๆ

ในมุมของโลกค้าปลีก นวัตกรรมทางการเงินและแพลตฟอร์มใหม่ๆช่วยให้เราก้าวสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการชำระเงินผ่านบัญชีที่เชื่อมต่อกับ mobile banking, การชำระผ่านบัตร, หรือการชำระผ่าน e-wallets ซึ่งเป็นอีกทางเลือกที่คล่องตัวและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

2. OMNI Channel – การเชื่อมต่อทุกช่องทางคืออนาคตของโลกค้าปลีก

ในโลกที่ประสบการณ์ที่ตอบโจทย์โดนใจลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ การขายผ่านช่องทางเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป ในปีที่ผ่านมาเราจะได้ยินคำว่า “การเชื่อมต่อทุกช่องทางการขาย – OMNI Channel” และ “โลกใหม่ของการค้าปลีก – New Retail” อยู่บ่อยครั้ง และจะเห็นตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงทั่วทุกภูมิภาค

ผู้เล่นรายใหญ่ในโลกค้าปลีกแบบออนไลน์ เริ่มให้ความสำคัญกับร้านค้าออฟไลน์ และเริ่มขยายสู่โลกของ “การเชื่อมต่อทุกช่องทางการขาย – OMNI Channel” มากขึ้น เพื่อเชื่อมต่อประสบการณ์การช็อปปิ้งออนไลน์เข้ากับออฟไลน์อย่างไร้รอยต่อ และนี่ก็ส่งผลให้ผู้ค้าปลีกที่เคยใช้ช่องทางการขายแค่ในห้างร้าน เริ่มให้ความสำคัญกับ OMNI Channel Marketing มากขึ้น

ผู้ค้าปลีกแบบดั้งเดิมจำนวนมาก ก็เริ่มที่จะพัฒนากลยุทธ์ใหม่ ที่รวมทุกช่องทางการขายเป็นการเดินทางหนึ่งเดียว เพื่อให้ลูกค้าได้เพลิดเพลินกับประสบการณ์การช็อปปิ้งที่ลื่นไหลและเชื่อมต่อประสบการณ์ทุกช่องทางได้อย่างสะดวกสบาย ตั้งแต่การไปเลือกซื้อที่ร้านค้า ได้เห็น ได้ลองเลือก สัมผัสสินค้าจริง และหากสนใจซื้อ ลูกค้าก็สามารถเช็คเกี่ยวกับสี / ขนาด / สต็อคที่มีให้เลือกจนถึงการกดสั่งซื้อและระบุการจัดส่งผ่านช่องทางออนไลน์ขณะที่ยังอยู่ที่ร้านได้ทันที

3. ธุรกิจการชำระเงินบนเครือข่ายดิจิตอลจะเปลี่ยนแปลงโลกการเงินทั้งหมด

ด้วยการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในโลกอีคอมเมิร์ซและความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินบนมือถือ ทำให้การชำระเงินแบบดิจิตอลเป็นช่องทางการจ่ายเงินที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ และนี่ก็เป็นโอกาสของอุตสาหกรรมการให้บริการทางการเงิน ที่จะปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องไปตามพฤติกรรมของผู้ใช้งาน และ สถาบันทางการเงินต่างๆได้ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มาขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

ในวันนี้การชำระเงินแบบดิจิตอลได้ก้าวสู่บทบาทใหม่ จากที่เคยเป็นแค่เครื่องมือในการจ่ายเงินสู่การเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายสำหรับสินเชื่อพิเศษขนาดเล็ก และใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ด้านการจับจ่ายของลูกค้ามาเป็นตัวประเมินความน่าเชื่อถือทางการเงินของผู้กู้ และเพื่อลดความเสี่ยงของผู้ให้กู้ไปพร้อมกัน

การเติบโตของโลกการเงินดิจิตอลในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในธุรกิจแบบเดิมๆ อาทิ ธุรกิจรับแลกเปลี่ยนเงินตรา และ ร้านค้าปลีกรายย่อยที่รับเฉพาะเงินสด ในโลกยุคดิจิตอล เราจะเริ่มเห็นการเกิดขึ้นของธุรกิจแลกเปลี่ยนสกุลเงินข้ามภูมิภาคแบบดิจิตอล ที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนจากกลไกตลาด ซึ่งมีอัตราผันผวนแบบ real time แทนอัตราแลกเปลี่ยนจากหน่วยงานการเงินระดับภูมิภาคแบบเดิมๆ

4. ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเติบโตสู่ความเป็นอัจฉริยะลูกผสม (Hybrid Intelligence / HyIntelligence)

ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) นั้นเป็นเครื่องมือที่มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการช่วยให้องค์กรต่างๆสามารถมีปฎิสัมพันธ์กับลูกค้าได้ในระดับบุคคล เพราะเครื่องมือ AI สามารถช่วยรวบรวมข้อมูลจำนวนมหาศาลของลูกค้าเข้าด้วยกัน พร้อมวิเคราะห์เพื่อนำผลลัพธ์มาปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าและสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งผ่านการตลาดเชิงประสบการณ์ (Experiential marketing)

ในปัจจุบัน ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ ความอัจฉริยะของมนุษย์ (HI) มักจะถูกนำมาใช้เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คน เพราะการเรียนรู้ของปัญญาประดิษฐ์ นั้นขึ้นกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่  (Big Data) ที่ถูกป้อนเข้ามาโดยความอัจฉริยะของมนุษย์ เพื่อคาดการณ์และดำเนินการงานตามคำสั่ง เช่นในกรณีของโปรแกรมตอบกลับอัตโนมัติแบบแชทบอท (Chatbot) และสิริ (SIRI) ความอัจฉริยะแบบลูกผสม (Hybrid Intelligent) หรือที่เรียกแบบย่อว่า (HyIntelligent) เป็นความชาญฉลาดในระดับสูงขึ้นของสมองกล ที่ผสานการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ (AI) และความอัจฉริยะของมนุษย์ (HI) ในระดับเซลล์ประสาทสั่งการ สิ่งนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพของมนุษย์อย่างมาก ตัวอย่างเช่น การฝังแผ่นชิพปัญญาประดิษฐ์ขนาดเล็กระดับนาโน (AI nanochip) ในมนุษย์ที่ช่วยให้เข้าใจการทำงานของระบบประสาท เพื่อลดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งทางวาจาและร่างกาย  เครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ (AI) เหล่านี้จะยังคงถูกนำมาใช้เพื่อช่วยให้ บริษัทต่างๆสามารถสร้างความผูกพันกับลูกค้าในระดับบุคคล ไม่เพียงเฉพาะกับจำนวนลูกค้าในกลุ่มที่ใหญ่มากขึ้นเท่านั้น แต่ในความถี่ที่สูงขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามการนำเทคโนโลยีที่กล่าวมาข้างต้นนี้มาใช้อย่างแพร่หลาย ควรคำนึงถึงความประเด็นความเหมาะสมทางด้านมนุษย์และจริยธรรมด้วยเช่นกัน

5.  Intrapreneur คือทางออกที่ วิน – วิน ในระบบเศรษฐกิจยุคใหม่

ในยุคที่ใครๆ ก็อยากเป็นมีธุรกิจของตัวเอง พนักงานและผู้บริหารองค์กรต่างๆ ที่มีความสามารถแห่กันลาออกไปตามหาความฝัน ปรากฏการณ์นี้ทำให้องค์กรยุคเก่าต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีศักยภาพ ส่วนผู้ที่ลาออกไปเริ่มต้นกิจการนั้นก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป เห็นได้ชัดจากตัวเลขธุรกิจสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จนั้นมีจำนวนน้อยมาก และส่วนใหญ่มักประสบปัญหาในการขยายธุรกิจ หรือ scale up ไม่ได้

เพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ องค์กรหลายแห่งเริ่มส่งเสริมให้พนักงานพัฒนาตัวเองเป็น ‘ผู้ประกอบการภายในองค์กร’ หรือ ‘Intrapreneur’ นั่นหมายถึงเป็นบุคลากรที่เต็มใจปฏิบัติงานเสมือนตนเป็นเจ้าของกิจการคนหนึ่ง คนกลุ่มนี้พร้อมจะเสนอตัวรับผิดชอบ เสนอไอเดีย สร้างนวัตกรรม และยอมรับความเสี่ยงตลอดจนทำงานอย่างอุตสาหะเพื่อนำไปสู่ผลกำไรในบั้นปลาย

เมื่อ Intrapreneur เหล่านี้มีไอเดียและเป้าหมายที่ชัดเจน องค์กรสมัยใหม่จะต้องให้การสนับสนุนทั้งทางการเงินและการเข้าถึงทรัพยากร เพื่อให้พวกเขาสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือบริการใหม่ๆ ขึ้นมาได้แลกกับการรับผลตอบแทนที่มากกว่าแค่เงินเดือน ยกตัวอย่างเช่น การได้หุ้นบริษัท หรือได้ผลตอบแทนอื่นที่มากกว่าตัวเงิน ซึ่งดูเหมือนว่ากลยุทธ์การบริหารบุคคลรูปแบบใหม่นี้จะตอบโจทย์ทั้งองค์กรและพนักงานได้แบบ วิน-วิน ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

6. เทคโนโลยีโดรนคือเครื่องมือชนิดใหม่ของการตลาดและการโฆษณา

เทคโนโลยียุคใหม่เป็นประตูสู่โอกาสใหม่ๆในการสร้างความแตกต่าง และในยุคนี้คงต้องกล่าวถึง “โดรน – Drone” ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่มาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสร้างสรรค์งานด้านการตลาดและการสื่อสารในทุกวันนี้

ในอดีต หากต้องการภาพถ่ายทางอากาศสวยๆ เราจะต้องลงทุนมหาศาลในการผลิต ต้องใช้เครน ติดตั้งนั่งร้าน  หรือแม้แต่ใช้เฮลิคอปเตอร์ ซึ่งต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการผลิตมหาศาล และมีเพียงแบรนด์ใหญ่ๆเท่านั้นที่มีงบประมาณมากพอจะทำได้  แต่ในปัจจุบันนี้ “โดรน – Drone” ทำให้การสร้างวีดีโอมาร์เก็ตติ้งสวยๆนั้นไม่เกินเอื้อมอีกต่อไป เราจะได้เห็นภาพถ่ายทางอากาศสวยๆของโครงการอสังหาริมทรัพย์ มุมกล้องแปลกใหม่ในหนังภาพยนตร์ฟอร์มเล็ก หรือภาพสวยๆที่บรรดาบล็อกเกอร์ใช้โดรนในการถ่ายทำ และที่มากกว่านั้น คือ ในบางประเทศยังสามารถใช้โดรนเป็นสื่อโฆษณาที่ใช้นำเสนอแบนเนอร์ หรือฉายข้อความดิจิตอลบนแลนด์มาร์ค สถานที่สำคัญ ต่างๆได้อีกด้วย เป็นการเปิดมุมมองความสร้างสรรค์ใหม่ๆให้กับโลกการตลาดทีเดียว

7. ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ 24/7 พร้อมเปลี่ยนแปลงวิถีการบริโภค

ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติทั้งแบบใช้เงินสดและไม่ใช้เงินสด ทั้งแบบที่ขายสินค้าพื้นฐานอย่างน้ำผลไม้สด ไปจนถึงอาหารสดชั้นดีอย่างเนื้อปลาแซลมอนในแพ็คสูญญากาศกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในสิงคโปร์  ข้อดีของตู้หยอดเหรียญคือเป็นการทำงานแบบไม่ต้องใช้คนขาย เปิดตลอด 24 ชั่วโมง เปิดทุกวัน และเสนอทางเลือกชำระเงินที่หลากหลาย และความนิยมตู้อัติโนมัติที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบกับผู้ค้ารายย่อย เช่นร้านขายเครื่องดื่มข้างถนน หรือร้านขายของชำ

ในขณะเดียวกันตู้ขายสินค้าอัตโนมัตินี้ ยังกลายเป็นพื้นที่สื่อโฆษณากลางแจ้งราคาย่อมเยา ที่เป็นทางเลือกใหม่ๆในการทำโฆษณาแบบ Out-Of-Home (OOH) แต่นักการตลาดต้องมีความเข้าใจกลุ่มตลาดเป้าหมาย ทั้งในแง่ทำเลที่ตั้งเชิงกลยุทธ์ และ ธรรมชาติการรับสื่อ Out-Of-Home (OOH) ของพวกเขา จึงจะสามารถเลือกใช้ สื่อโฆษณาบนตู้ขายสินค้าอัตโนมัติเป็นชช่องทางการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

8. ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสังคมจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ในยุคที่ลูกค้าได้รับการเชื่อมต่อและรับรู้ข่าวสารทางโลกออนไลน์ย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง พวกเขามีแนวโน้มที่จะตัดสินใจโดยใช้ความรู้สึกเป็นตัวนำ แต่ในโลกของธุรกิจขนาดใหญ่ นั้นยากที่แบรนด์จะสามารถสร้างความรู้สึกผูกพันกับลูกค้า ดังนั้น เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ธุรกิจจำนวนมากต่างหันมาใช้ความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นหนึ่งในหลาย ๆ วิธีในการดึงดูดลูกค้า ซึ่งวิธีการก็มีหลากหลาย ตั้งแต่การระดมทุนหรือการให้การสนับสนุนสำหรับโครงการเพื่อสังคม และสิ่งแวดล้อม

ในทางกลับกันความคิดริเริ่มทางสังคมเหล่านี้ทำให้บริษัทฯ สามารถบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจของพวกเขาผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ช่วยสร้างความเกี่ยวข้องและความผูกพันทางอารมณ์สำหรับ บริษัท เหล่านี้เพื่อทำการตลาดแบรนด์ของพวกเขาอย่างไรก็ตาม การตลาดที่ปราศจากการเข้าอกเข้าใจผู้บริโภคอย่างมีความรู้สึกร่วม นั้นล้าสมัยไปแล้ว และด้วยการเพิ่มขึ้นของข่าวปลอมความถูกต้องในการสื่อสารการตลาดมีความสำคัญในการสร้างปัจจัยความน่าเชื่อถือสูงในผู้บริโภค

9. จงใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมาร์ทโฮม

เมื่อเทคโนโลยียุคใหม่มีการพัฒนามากขึ้น อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านส่วนใหญ่ จะมีการพัฒนาเสริมด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะทำให้อุปกรณ์ทุกชิ้นในบ้าน อาทิ ตู้เย็น มีความชาญฉลาด (Smart Home) สามารถช่วยตรวจสอบพฤติกรรมการบริโภค และช่วยเตือนเจ้าของบ้านโดยอัตโนมัติให้สั่งซื้อสินค้าที่คงเหลือน้อย เทคโนโลยีนี้จะพาเราก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการจับจ่ายซื้อของตามร้านขายของชำแบบดั้งเดิมจะเปลี่ยนไป ด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายแบบบูรณาการโดยตรงกับซัพพลายเออร์ การชำระเงินดิจิทัล และการจัดส่ง รูปแบบการจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคจะเปลี่ยนไป

ด้วยเทคโนโลยี Smart Home ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ   “ปัญญาประดิษฐ์” (AI) ในสมาร์ทโฮมที่มีการจดจำใบหน้าและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)  จะตรวจสอบพฤติกรรมของแต่ละบุคคลและให้ความเป็นส่วนตัวในการใช้ชีวิตที่บ้าน ตั้งแต่การตั้งค่าอุณหภูมิในบ้าน ไปจนถึงแสงไฟบรรยากาศเพื่อความบันเทิง เช่นเพลงส่วนตัวและรายการโทรทัศน์ ดังนั้นนักการตลาดจะต้องเข้าใจเทคโนโลยี Smart Home ที่เกิดขึ้นใหม่และเรียนรู้วิธีการควบคุมเทคโนโลยีนี้เพื่อทำการตลาดผลิตภัณฑ์ของตน

และที่สำคัญที่สุด คือ นักการตลาดจะต้องเข้าใจถึงความสำคัญของการตลาดยุคใหม่ที่เน้นการเชื่อมต่อกับลูกค้าในระดับบุคคล ในยุคนี้ แบรนด์ที่นำเสนอเพียงแค่สินค้าและบริการจะไม่เพียงพออีกต่อไป แต่ความเข้าใจและการให้ความสำคัญกับความรู้สึกของลูกค้าจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ในการตลาดและการทำธุรกิจในภาพรวม


ผู้เขียน
MAT TEAM

สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย

The Contextual เผยแนวคิดการแก้โจทย์ธุรกิจด้วย Service Design

23
SHARE

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ในวันนี้เราจะได้ยินคำว่า “กระบวนการคิดเชิงออกแบบ” หรือ “Design Thinking” เป็นหนึ่งในคำที่ถูกหยิบยกขึ้นมาบ่อยๆ ในฐานะทิศทางการพัฒนาธุรกิจสมัยใหม่ หรือการประยุกต์ใช้กับการตลาดเพื่อค้นหา ‘ครีเอทีฟโซลูชั่น ให้กับผู้บริโภคในหลายๆ อุตสาหกรรม นัยยะของกระบวนการคิดเชิงออกแบบนั้นแท้จริงแล้วก็อยู่ที่การทำความเข้าใจ ‘ผู้ใช้’ เพื่อจะกำหนดวิถีทางแก้ไขปัญหาในชีวิตของพวกเขาโดยไม่จำกัดรูปแบบ ผ่านการวิเคราะห์ประสบการณ์ของตัวผู้ใช้เป็นสำคัญ

วันนี้สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยมีโอกาสพบปะกับ ธนัฏฐา โกสีหเดช และ ภิรญา รวงผึ้งทอง สองผู้ก่อตั้งบริษัท The Contextual ที่ปรึกษาด้านธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในเรื่องงานออกแบบบริการและประสบการณ์ผู้ใช้ โดยเราจะชวนคุณไปสำรวจวิธีคิดเบื้องหลังการทำงานของพวกเธอ ว่ากระบวนการทำงานของ Service Design และ Design Thinking นั้นสามารถจะนำมาแก้ไขโจทย์และลดข้อผิดพลาดในงานการตลาดได้อย่างไร บทสัมภาษณ์นี้จะทำให้คุณมีมุมมองใหม่ๆ ที่กว้างขึ้นต่อคำสองคำนี้อย่างแน่นอน

(ซ้าย) ธนัฏฐา โกสีหเดช, (ขวา) ภิรญา รวงผึ้งทอง
เริ่มจากความเข้าใจ…การออกแบบบริการคืออะไรกันแน่

“ย้อนกลับไปยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 การพัฒนาทางเทคโนโลยีได้เปิดประตูให้โลกการผลิตสามารถผลิตสินค้าจำนวนมากๆ ออกมาได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งเมื่อเรามีข้าวของหน้าตาเหมือนๆ กันจำนวนมหาศาลวางขายรวมกันในท้องตลาด คำถามสำคัญที่ตามมาทันทีก็คือ แล้วจะออกแบบอย่างไรให้ถูกใจคนหมู่มาก? และจะมั่นใจได้อย่างไรว่าของที่ผลิตมาเป็นจำนวนมากนั้นจะขายได้? นั่นคือที่มาของกระบวนการออกแบบหรือศาสตร์แห่งการเข้าใจผู้ใช้ในโลกทุกวันนี้

“ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการประยุกต์โลกการออกแบบเข้าสู่โลกธุรกิจคือ เดวิด เอ็ม เคลลีย์ (David M. Kelley) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาชื่อดังอย่าง IDEO ที่ได้ผลักดันกระบวนการคิดเชิงออกแบบให้เข้ามาแสดงพลังในวิถีการทำธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม”

ส่วนทฤษฎีด้านการออกแบบบริการนั้นน่าจะเรียกได้ว่าเป็นการต่อยอดมาจากกระบวนการคิดเชิงออกแบบอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ทั้งกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด การสื่อสาร และการบริการทุกรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่นแอพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนก็ถือเป็นงานบริการรูปแบบหนึ่ง ที่จำเป็นต้องอาศัย ‘การออกแบบประสบการณ์’ ให้เทคโนโลยีนั้นมีความเป็นมิตรและตอบโจทย์ผู้ใช้ได้อย่างครบถ้วน  กระบวนการออกแบบบริการที่ดีนั้นมีหลักสำคัญคือต้องเป็นกระบวนการปลายเปิด ไม่พยายามกะเกณฑ์ หรือกำหนดผลลัพธ์สุดท้ายไว้ล่วงหน้า

หากแต่ต้องสังเกตและติดตามพฤติกรรมจริงๆ ของผู้ใช้ จนท้ายที่สุดผลลัพธ์ที่ได้อาจจะออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ชิ้นหนึ่ง หรืออาจจะเป็นเส้นทางประสบการณ์ที่ผิดแปลกไป หรือเป็นรูปแบบการใช้งานสิ่งของเดิมๆ ด้วยวิธีการใหม่ ทั้งหมดทั้งมวลขึ้นอยู่กับว่าอะไรที่จะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในบริบทหนึ่งๆ ได้ดีที่สุด”

เมื่อประสบการณ์เป็นสิ่งนามธรรม ธุรกิจจะรู้ได้อย่างไรว่าใครรู้สึกถึงประสบการณ์แบบไหน

“ทฤษฎีการออกแบบบริการนั้นมีชุดเครื่องมือที่หลากหลายมากในการทำความเข้าใจ และเข้าถึงความต้องการที่
ซ่อนเร้นของผู้บริโภค โดยหนึ่งในนั้นเรียกว่า Customer Journey Map เป็นเครื่องมือที่ทำให้ประสบการณ์อันเป็นนามธรรมนั้นก่อร่างกลายเป็นภาพที่จับต้องได้ขึ้นมา

“ในกระบวนการนี้เราจะไม่มองจากมุมของธุรกิจหรือผู้ให้บริการว่า คุณทำอะไรไปให้ลูกค้าบ้าง แต่จะมองจากมุมของลูกค้าว่าเขาสัมผัสถึงบริการอะไรจากคุณ และมันดีพอหรือไม่ในความรู้สึกของเขา

หัวใจคือ เราต้องออกไปเก็บข้อมูลว่าในแต่ละช่วงของเส้นทางประสบการณ์ผู้ใช้นั้น มันมีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิตพวกเขาบ้าง เรามีชุดเครื่องมือมากมายหลายแบบ เช่น การติดตามแบบซาฟารี การตามแบบชาโดว์ การสัมภาษณ์เชิงลึก การทำโฟกัสกรุ๊ป ฯลฯ จากนั้นเราก็จะนำข้อมูลที่ได้มาใส่ไว้ใน Customer Journey Map ทำให้เราเห็นชัดเจนว่า
เส้นทางของประสบการณ์ลูกค้า (Customer Experience) ที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร”

ลักษณะของธุรกิจที่มาใช้บริการ The Contextual

“ลูกค้าของเรามีสองแบบหนึ่งคือองค์กรขนาดใหญ่ และสองคือกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย SMEs ซึ่งทั้งสองแบบนี้ก็มาหาเราเพราะต้องการให้เราช่วยแก้ปัญหาบางอย่าง หรือไม่ก็มาพร้อมกับวิสัยทัศน์ที่เขากำหนดไว้แล้ว
Service Design ในที่นี้เราต้องคุยกับลูกค้าให้เคลียร์ก่อนว่ามันมีหน้าที่เสมือนอาวุธอย่างหนึ่งที่มีไว้ใช้เอาชนะคู่แข่ง หากเปรียบกับสมัยก่อนอาวุธที่เราคุ้นเคยก็มีเช่น การตลาด การประชาสัมพันธ์ การทำแบรนด์ดิ้ง แต่ Service Design นี้เป็นอาวุธใหม่ที่เราไม่ได้ระบุว่าผลลัพธ์ของมันจะออกมาในรูปแบบใด อาจจะเป็นแผนการตลาด หรือเป็นการทำแบรนด์ดิ้ง หรืออะไรก็ได้ แต่ภายใต้กระบวนการนี้คุณจะรู้ชัดว่าธุรกิจของคุณต้องการยุทธวิธีไหนในการแก้ปัญหา และต้องวางแผนอย่างไรเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น

“เราเชื่อว่าการโฆษณาที่ดีที่สุดในยุคนี้คือการทำบริการของเราให้ดีจริงๆ เพราะคนทุกคนเป็นกระบอกเสียงให้เราได้ และในทางกลับกันถ้าบริการของเราไม่ดี ทุกคนก็พร้อมที่จะบอกต่อเช่นกัน
งานออกแบบประสบการณ์และวิธีการประเมินผล

“เรื่องการประเมินผลนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าหน้าที่หลักของเราไม่ใช่เรื่องยอดขายระยะสั้น แต่เราทำหน้าที่ในการสร้างประสบการณ์ที่จะก่อแรงกระเพื่อมกลับมาเป็นยอดขายในระยะยาว และช่วยคุณทำความเข้าใจลูกค้าว่าเขายังมีต้องการอะไรที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองจากคุณบ้าง เป็นการเปิดประตูให้คุณมองเห็นถึงโอกาสในการสร้างแบรนด์และความน่าเชื่อถือไปด้วยพร้อมกัน

สมัยก่อนนักการตลาดกับนักออกแบบค่อนข้างทำงานคนละอย่าง นักออกแบบมีหน้าที่ออกแบบสินค้าหรือบริการให้น่าใช้ (ออกแบบอย่างไรคนถึงจะอยากใช้) ส่วนนักการตลาดมีหน้าที่คิดวิธีการสื่อสารให้ตรงใจผู้ใช้มากที่สุด (พูดอย่างไรคนถึงจะอยากซื้อ) แต่ปัจจุบันผู้คนมองหาคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการที่เขาได้ยินจากคนรอบตัว เขาไม่ได้ฟังคำโฆษณาแล้วซื้อตามเหมือนเมื่อก่อนแล้ว นั่นคือบทบาทของ Service Design ที่เราต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน  ที่ผ่านมาบางองค์กรจึงประเมินผลในรูปแบบความพึงพอใจของลูกค้า ภายใต้กรอบระยะเวลาที่เราเข้าไปพัฒนาระบบบริการใหม่ๆ ให้เขา แต่ละองค์กรก็ควรจะมีเป้าหมายว่างานบริการหนึ่งๆ จะวัดระดับความพึงพอใจได้อย่างไรบ้าง”

ความท้าทายในงานออกแบบบริการให้ลูกค้าแต่ละแบบ

“การออกแบบบริการเป็นสิ่งที่ดำเนินไปควบคู่กับการตลาดตลอดเวลา ถ้าเราทำสินค้าที่ดีนั่นก็คือการตลาดอย่างหนึ่ง แต่มันอาจจะช้าเกินไปสำหรับบางคน หรืออาจไม่เหมาะสมสำหรับบางธุรกิจที่ต้องการเข้าถึงคนจำนวนมากอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเมื่อพีอาร์หรือมาร์เก็ตติ้งทำหน้าที่ของเขาในการสร้าง ‘ความคาดหวัง’ ออกไป การออกแบบบริการก็มีหน้าที่จะต้องพาประสบการณ์จริงให้เกิดขึ้นตรงตามความคาดหวังเหล่านั้น

“การพัฒนาประสบการณ์ที่ดีคือการพัฒนาองค์ประกอบทุกด้านที่ทำให้ผู้ใช้เกิดความประทับใจในธุรกิจ ทำให้เขาอยากกลับมาใช้บริการอย่างต่อเนื่องและแนะนำผู้อื่นต่อ นี่ก็คือผลลัพธ์ทางการตลาดที่ยั่งยืนในตัวมันเอง”

ข้อควรระวังคือหากลูกค้ามาใช้บริการแล้วเขาไม่รู้สึกถึงประสบการณ์ตามที่แบรนด์สื่อสารออกไป เขาก็จะกลายเป็น
กระบอกเสียงที่แชร์ประสบการณ์ลบๆ ออกไปสู่คนอีกนับหมื่น ดังนั้นมันจึงสำคัญมากที่ลูกค้าจะต้องได้รับประสบการณ์จริงในระดับที่พอเหมาะกับความคาดหวังของเขา หรือถ้าจะให้ดีกว่านั้นคือได้รับประสบการณ์ที่ดีเกินคาดหมายไปอีก นักการตลาดกับนักการออกแบบบริการจึงจำเป็นต้องทำงานคู่กันไปเสมอเพื่อป้องกันความผิดพลาด  บางคนเข้าใจคำว่า Service Design ว่าหมายถึงแค่การออกแบบบริการ แต่แท้จริงแล้วมันคือการแก้ปัญหา การมองเป้าหมาย และการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตในระยะยาว”

พฤติกรรมผู้ใช้เปลี่ยนไปทุกวัน นักการตลาดจะตามทันได้อย่างไร

“ย้อนไปในยุคก่อนเราเคยแบ่งกลุ่มลูกค้าตามข้อมูลประชากรศาสตร์ เช่นอายุเท่านี้เป็นกลุ่มนักศึกษา กลุ่มคนวัยทำงาน ต่อมาก็เข้าสู่ยุคของการแบ่งตามไลฟ์สไตล์ เช่น กลุ่มคนที่ชอบออกกำลังกาย ชอบท่องเที่ยว ฯลฯ ส่วนตอนนี้เป็นยุคของการแบ่งด้วย ‘พฤติกรรม’ ซึ่งเครื่องมือในการเข้าถึงพฤติกรรมผู้ใช้ก็มีทั้งการวิเคราะห์ Big data ด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือการกำหนดชุดคำสั่งการเรียนรู้พฤติกรรมคนโดยที่คน(ยัง)ไม่รู้ตัว ฯลฯ  แต่ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปอย่างไร สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือความต้องการของมนุษย์

หน้าที่ของเราคือการช่วยให้ธุรกิจเลือกใช้เครื่องมือต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมตามบริบทที่ต่างกัน ทุกวันนี้มีเครื่องมือใหม่ๆ ให้นักการตลาดเลือกใช้เต็มไปหมด แต่ที่ปรึกษาอย่างพวกเรามีหน้าที่ทำให้ธงของนักการตลาดมันเห็นชัดเจนขึ้น ออกสำรวจไปด้วยกันว่าลูกค้าของเขามีกี่ประเภท แต่ละประเภทมีความต้องการอะไร และบริการหรือประสบการณ์แบบไหนที่จะทำให้ลูกค้าแต่ละแบบแฮปปี้กับธุรกิจของคุณมากที่สุด”

“จงระวังว่าเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่นำเสนอบริการให้ได้ แต่เทคโนโลยีไม่สามารถเลือกสร้างบริการให้คุณได้”

เราต้องเป็นผู้สังเกตการณ์และวิเคราะห์เองว่าอะไรที่ทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยน และเปลี่ยนอย่างไร นั่นคือ insight ที่เราต้องตัดสินให้ดีว่าอะไรที่เป็นแค่เทรนด์ฉาบฉวย อะไรที่เป็นความต้องการเชิงลึกจริงๆ พฤติกรรมคนอาจจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามเทรนด์ แต่ความต้องการเชิงลึกจะไม่เปลี่ยน มันจะอยู่ไปนานกว่า”

ถ้านักการตลาดอยากเรียนรู้การเป็นนักออกแบบประสบการณ์

“คุณสมบัติแรกคือต้องพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า ‘Empathy’ ขึ้นให้ได้ก่อน ซึ่งในที่นี้มันหมายถึงความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น เข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นคิดหรือทำ ต้องเปิดใจยอมรับว่าคนที่ต่างจากเราเขาทำบางสิ่งบางอย่างด้วยเหตุผลอะไร และเราต้องไม่นำตัวเองไปตัดสินเขาเด็ดขาด  สองคือต้องเป็นคนช่างสังเกตตลอดเวลา ตั้งคำถามกับทุกอย่าง วิเคราะห์ประสบการณ์ที่ตัวเองไดัสัมผัสในทุกๆ ที่ สามคือฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ด้วยตรรกะ และสุดท้ายคือการสนใจในทุกศาสตร์รอบตัว ตั้งแต่เรื่องธุรกิจหนักๆ ไปจนถึงแฟชั่นเบาๆ เพราะทุกอย่างคือเรื่องของประสบการณ์ทั้งนั้น”

เครดิตภาพ: The Contextual

เกี่ยวกับ The Contextual

ก่อตั้งโดย ธนัฏฐา โกสีหเดช และ ภิรญา รวงผึ้งทอง ให้บริการลูกค้าครอบคลุมใน 4 ส่วนหลักคือ
1) Design Research – งานวิจัยด้านการออกแบบที่ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ประสบการณ์ผู้ใช้อย่างลึกซึ้ง
2) Service Design Consultation – ให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าเกี่ยวกับงานออกแบบบริการและประสบการณ์ผู้บริโภค
3) Service Design Solutions – ออกแบบและพัฒนาโซลูชั่นเฉพาะเพื่อแก้โจทย์ของธุรกิจในมิติที่ต่างกัน
4) Service Design Training – ฝึกอบรมและทำเวิร์กช็อปด้วยกรอบวิธีคิดของ Design Thinking และ Design process

คุณสามารถทำความรู้จักกับแนวคิดและผลงานต่างๆ ของ The Contextual ได้ที่ www.thecontextual.com หรือติดตามอ่านเนื้อหาสนุกๆ เกี่ยวกับการออกแบบบริการและประสบการณ์ที่ facebook.com/betterbyservicedesign

รูปเพิ่มเติม

ผู้เขียน
กมลกานต์ โกศลกาญจน์

นักเขียนด้านการออกแบบ วัฒนธรรม และไลฟ์สไตล์

บังอร สุวรรณมงคล ปั้นแบรนด์อย่างไรให้นั่งในใจผู้บริโภค

2.4k
SHARE

KEY FOCUS

  • แบรนด์ทุกแบรนด์ในโลกมองได้สองมุม คือมุมที่เกิดจากความตั้งใจของเราและมุมที่วัดผลได้จากลูกค้า
  • ผู้บริโภคทุกวันนี้ไม่ได้เสพแค่ฟังก์ชั่นของสินค้าหรือบริการ แต่เสพอารมณ์และความรู้สึกของแบรนด์ด้วยเสมอ
  • เข้าใจลูกค้า เข้าใจตนเอง และเข้าใจคู่แข่ง คือสามหัวใจในการวาง Brand Positioning สู่ Winning Zone
  • มาร์เก็ตติ้งยุคใหม่เปลี่ยนองค์ประกอบจาก 4Ps (Product, Price, Place, Promotion) มาสู่ 4Es (Experience, Exchange, Everywhere, และ Evangelism)
  • กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) คือเครื่องมือสู่การสร้างนวัตกรรมความคิด สินค้า และบริการรูปแบบใหม่ๆ

เพราะแบรนด์ไม่ได้เป็นเพียงแค่ชื่อยี่ห้อบนตัวผลิตภัณฑ์อีกต่อไป แต่คือศูนย์รวมของความรู้สึกที่สร้าง ‘คุณค่า’ บางอย่างในใจผู้บริโภค ดังนั้นหน้าที่สำคัญของนักการตลาดจึงอยู่ที่การวาง Brand Positioning ที่ใช่ในใจของเหล่าลูกค้า เพื่อให้ลูกค้ามีคำตอบว่า ‘ทำไม’ พวกเขาถึงอยากจะซื้อหรือใช้บริการแบรนด์ของคุณ  วันนี้สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ได้รับเกียรติจากคุณ บังอร สุวรรณมงคล ผู้ก่อตั้งบริษัท Hummingbirds ที่ปรึกษาด้านการวางแผนการตลาดเชิงกลยุทธ์ ที่พร้อมพูดคุยกับเราแบบเจาะลึกถึงแนวทางการสร้างแบรนด์ยุคใหม่ให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคได้อย่างถึงแก่น

อะไรคือความหมายของ ‘แบรนด์’ ที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กต้องเข้าใจให้ถูกต้อง

แบรนด์คือทุกอย่างที่คนเรารู้สึกและเชื่อเกี่ยวกับยี่ห้อนั้นๆ เช่นถ้าคุณถามเพื่อนคนหนึ่งว่า “แบรนด์นี้เป็นยังไงบ้าง” สิ่งที่เพื่อนของคุณอธิบายกลับมานั่นล่ะก็คือความหมายแบรนด์นั้นๆ

“แบรนด์คือเหตุผลที่ทำให้ลูกค้าซื้อน้ำดื่มยี่ห้อ A แม้ว่ามันจะแพงกว่ายี่ห้อ B ก็ตาม”

ทั้งนี้เพราะแบรนด์ทุกแบรนด์สามารถมองได้สองมุม มุมแรกเกิดจากความตั้งใจของเรา (เจ้าของแบรนด์) แต่อีกมุมซึ่งเป็นจริงยิ่งกว่า ก็คือความรู้สึกเมื่อมันอยู่ในมือของลูกค้า ดังนั้นเวลาที่นักการตลาดวัดผลภาพลักษณ์ของแบรนด์ เราจะต้องวัดจากมุมมองของลูกค้าเสมอ โดยที่เราในฐานะเจ้าของแบรนด์มีหน้าที่ต้องวางเป้าหมายให้ชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยให้แบรนด์โตไปตามมีตามเกิด นอกจากนั้นเรายังควรวัดผลอย่างต่อเนื่องว่าสิ่งที่เราตั้งใจทำกับสิ่งที่ลูกค้ารู้สึกนั้น…มันตรงกันหรือไม่

ปัจจุบันผู้คนซื้อของด้วย ‘ความรู้สึก’  มากกว่า?

ใช่ค่ะ เพราะท้ายที่สุดแล้วผู้คนไม่ได้เสพแค่ประโยชน์ใช้สอย เพราะถ้าเขาต้องการแค่นั้นเราอาจเลือกดื่มน้ำประปาแทนน้ำขวดก็ได้ แต่เราในฐานะผู้บริโภคเรามักต้องการเสพความรู้สึกบางอย่างที่นอกเหนือไปจากฟังก์ชั่นพื้นฐาน

ดิฉันขอยกตัวอย่างแคมเปญมอเตอร์ไซค์ที่กำลังทำอยู่นะคะ จากการศึกษาเราพบว่ามอเตอร์ไซค์บางแบรนด์ทำให้ลูกค้ารู้สึกมากว่า ‘เหมาะจะขี่ไปสังสรรค์กับเพื่อน’ เขารู้สึกดีที่ได้ใช้รถในบริบทนั้น แต่พอภรรยาให้ขี่มอเตอร์ไซค์คันเดียวกันไปซื้อของที่ตลาด เขากลับไม่ค่อยพอใจที่ต้องมีถุงกับข้าวห้อยติดรถกลับมา เป็นต้น ซึ่งเรื่องอารมณ์เล็กๆ เพียงแค่นี้แหละ ที่ทำให้บางครอบครัวถึงกับถอยมอเตอร์ไซค์อีกคันเพื่อไปจ่ายกับข้าวโดยเฉพาะ เรื่องอย่างนี้แสดงให้นักการตลาดเห็นว่าเมื่อแบรนด์มีบุคลิกที่ต่างกัน ผู้บริโภคก็จะใช้มันในโลกที่ต่างกันด้วย นี่คือความสนุกของงานการตลาด เราจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภครู้สึกดีกับแบรนด์ รู้สึกคู่ควร มันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ค่ะ

ถามง่ายๆ เลย การสร้างแบรนด์ควรเริ่มต้นที่ไหน

ดิฉันเชื่อว่าเราต้องหา ‘จุดยืนของแบรนด์’ ที่เป็นจุดขายให้ได้เสียก่อน โดย Brand Positioning นี้จะประกอบไปด้วย 3 บริบทที่เกี่ยวเนื่องกัน ได้แก่ 1) ความเข้าใจลูกค้า คุณต้องวางเป้าก่อนเลยว่าคุณอยากจะชนะใจใคร และต้องพยายามทำความเข้าใจเขาหรือเธอให้ได้อย่างถ่องแท้  2) ความเข้าใจตนเอง อันนี้หมายถึงเราต้องรู้ว่าแบรนด์ของเรามีจุดเด่นอะไร แบรนด์ที่ดีไม่ใช่จะพูดอะไรก็ได้ แต่ต้องพูดถึงข้อดีที่จะเอาชนะใจลูกค้า และที่สำคัญที่สุดคือเมื่อพูดแล้วลูกค้าต้องรู้สึกเช่นเดียวกันกับเราด้วย  3) ความเข้าใจคู่แข่งขัน ในบริบทนี้หมายถึงเราต้องรู้ด้วยว่าในสายตาของลูกค้าเขามองคู่แข่งเราเป็นใคร เป็นอย่างไร ฯลฯ เหตุผลเพราะนักการตลาดต้องไม่วาง Brand Positioning ให้ซ้ำกับคู่แข่งเด็ดขาด เราต้องวางในตำแหน่งอื่น และต้องเป็นตำแหน่งที่ลูกค้ามีความต้องการด้วยนะ มันจะเป็นจุดตัดที่ทำให้เรามีเครดิตเหนือคู่แข่งขึ้นมา จุดนั้นเราเรียกว่า Winning Zone

นักการตลาดมีหน้าที่ต้องสร้าง Winning Strategy ในการมัดใจลูกค้า และอย่าไปกังวลว่าตลาดนั้นมีคู่แข่งขันมากหรือน้อย เพราะถ้าเราทำงานจริงจัง เราจะพบ Winning Zone ได้เสมอ อย่าลืมว่าสินค้าหรือบริการหนึ่งๆ ไม่จำเป็นต้องแข่งกันที่ฟังก์ชั่น แต่สามารถแข่งกันที่คาแรกเตอร์ก็ได้ เช่น แบรนด์มอเตอร์ไซค์ที่มีบุคลิกนุ่มนวล กับแบรนด์มอเตอร์ไซค์ที่มีความดาร์กเบาๆ เป็นต้น

ที่เขาว่าผู้บริโภคเดี๋ยวนี้มองสินค้าและแบรนด์ต่างๆ เป็น ‘งานบริการ’ ไปหมด คุณคิดเห็นอย่างไร

จริงค่ะ ในอดีตเวลาเราวางแผนการตลาดเรามักใช้ส่วนผสม 4Ps ถูกมั้ย แต่ทุกวันนี้มันกลายเป็น 4Es ไปหมดแล้ว เพราะมันคือการสร้างคุณค่าที่มากขึ้น ยกตัอย่างเช่น

1) จาก Product มาเป็น Experience เพราะปัจจุบันเราไม่ได้ซื้อของแล้ว เราซื้อประสบการณ์ที่จะได้รับจากของนั้นต่างหาก ทุกวันนี้การเทซอสมะเขือเทศจากบรรจุภัณฑ์ที่ต่างกันก็ให้ประสบการณ์ที่ต่างกันมาก บางแบรนด์ออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ให้ฝาเปิดไปอยู่ด้านล่าง ทำให้บีบออกง่าย เทสะดวก ต่างจากบางแบรนด์ที่ยังคงใช้ขวดแก้ว ฝาอยู่ด้านบน เทยากเหมือนเดิม เห็นชัดว่านี่ก็คือซอสมะเขือเทศเหมือนกัน แต่เขามอบประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกันแล้ว

2) จาก Price สู่ Exchange เวลาผู้บริโภคควักเงินจากกระเป๋าทุกวันนี้เขามองหาความ ‘คุ้มค่า’ ที่ให้ ‘คุณค่า’ ด้วย แปลว่าสินค้าใดที่มอบคุณค่าได้ตรงใจกว่าก็จะถูกเลือก แม้จะขายในราคาแพงกว่าแต่ผู้บริโภคก็ยังเลือกซื้อ เช่น เวลาเราเดินเลือกตู้เย็นตามห้างฯ เรามักจะเห็นตู้เย็นสีหลักๆ คือเทา ขาว ดำ แดง โฆษณากันแต่เรื่องระบบหมุนเวียนความเย็น ช่องแช่แข็ง ช่องแช่ผัก แช่ไข่ แบรนด์ไหนก็พูดคล้ายๆ กันหมด แต่พอเราหันไปเห็นตู้เย็น Smeg ที่เป็นสีเขียวมะนาว ชมพู ฟ้า เหลือง ส้ม บางรุ่นเป็นลายธงชาติอังกฤษ เราจะรู้สึกว่า โอ้วว…มันช่างแตกต่างจากตู้เย็นทั่วไป เพราะเขามีจุดยืนคือ Technology with Style แบรนด์นี้ไม่เคยโฆษณาเลยว่าฟังก์ชั่นด้านในมีอะไรบ้าง แช่ผักได้มากแค่ไหน เพราะนั่นไม่ใช่ Winning Zone ของเขา ในทางตรงกันข้าม ตามสื่อโฆษณาเขาจะสร้างภาพว่าถ้าคุณวางตู้เย็น Smeg ไว้ในบ้าน มันจะให้ความรู้สึกอย่างไร เหมาะกับบ้านคุณมากน้อยแค่ไหน ซึ่งนั่นคือคุณค่า หรือ Value ที่แบรนด์อื่นมอบให้ไม่ได้นั่นเอง

3) จาก Place สู่ Everywhere สมัยก่อนเราอาจเชื่อว่าช่องทางการขายควรถูกกำหนดตายตัวไว้ล่วงหน้า เช่นถ้าขายแชมพูควรอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต ฯลฯ แต่ในโลกยุคดิจิทัลนี้ ผู้คนซื้อของออนไลน์กันตลอด 24 ชั่วโมง มันหมดยุคที่ลูกค้าจะเดินไปหาเราที่ใดที่หนึ่งแล้ว แพลทฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ที่เชื่อมต่อกันได้ 24 ชั่วโมงนี่ต่างหาก คือโอกาสใหม่ที่จะทำให้แบรนด์เข้าไปนั่งในใจผู้บริโภคได้

4) จาก Promotion สู่ Evangelism แม้ว่าการลด แลก แจก แถม จะเป็นเครื่องมือการตลาดยอดฮิตตลอดกาล แต่ในยุคนี้เราจำเป็นต้องทำให้ผู้บริโภคเข้ามามีประสบการณ์ร่วมกับแบรนด์ให้มากที่สุด โดยเมื่อมาแล้วต้องรู้สึกชื่นชอบ หลงรัก พร้อมจะกลายเป็นสาวกที่ช่วยบอกต่อเรื่องราวของเราไปสู่คนอื่น เช่น คุณแม่คนหนึ่งชอบทำอาหารเพื่อสุขภาพมาก พอเดินเข้าร้านวีรสุก็เจอกับพนักงานที่ชวนทดลองใช้เครื่องทำน้ำถั่วเหลืองด้วยตนเอง ตอนแรกคุณแม่แอบเกรงว่าจะทำยาก แต่เมื่อได้ลองแล้วพบว่าใช้ง่ายก็ตัดสินใจซื้อทันที  ทีนี้พอมีเพื่อนมาบ้านคุณแม่ก็ได้ทีเสริฟน้ำถั่วเหลืองคั้นสดให้เพื่อนๆ ทาน พร้อมสาธิตให้เห็นว่าตัวเครื่องนี้ใช้ง่าย เหมาะกับคนรักษาสุขภาพ ส่งผลให้เพื่อนๆ ของคุณแม่ไปซื้อเครื่องทำน้ำถั่วเหลืองนี้กันอีกถึง 5 คน นี่คือพลังของการ ‘สร้างสาวก’ ที่แบรนด์วีรสุทำได้ดียิ่งกว่าโปรโมชั่นลด แลก แจก แถม เพราะเขาได้ทำให้ลูกค้ากลายเป็น ‘เซลล์แมน’ ให้ทางอ้อม

การจะไปให้ถึงจุด Winning Zone นี้ยากไหม

การเข้าใจ 3 บริบทข้างต้นอย่างถ่องแท้คือหัวใจค่ะ  ถ้าเป็นแบรนด์ยักษ์ใหญ่เขาก็อาจจ้างบริษัทวิจัยมืออาชีพมาทำ Customer Insight ให้ได้ แต่ถ้าเราเป็นบริษัทเล็กๆ เราก็ทำเองได้เหมือนกัน เริ่มจากการทำความเข้าใจไลฟ์สไตล์ของลูกค้า ค้นหา perception หรือการรับรู้ที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์เรา รวมไปถึงความรู้สึกที่เขามีต่อคู่แข่งขันด้วย แต่ในความเป็นจริงการจะทำแบรนด์ให้ปังไม่ได้จบแค่ที่การวาง positioning นะคะ มันเกี่ยวกับการสร้างคำมั่นสัญญา หรือ Brand Promise ด้วย เป็นคำสัญญาที่แบรนด์ให้ไว้ตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังจากที่เขาใช้สินค้าหรือบริการของเราแล้ว เช่น แชมพู Dove สัญญาว่าจะมอบความชุ่มชื้นให้กับเส้นผม สังเกตว่าการโฆษณา การสื่อสารบนบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ เขาก็จะพูดถึงเรื่องความชุ่มชื้นของเส้นผมเป็นหลัก และเมื่อเรานำแชมพู Dove ไปสระผม เราก็รู้สึกถึงความชุ่มชื้นนั้นจริง เป็นต้น นี่คือการส่งมอบคุณค่าที่แบรนด์สัญญาไว้ ที่จะทำให้เราเข้าไปยืนอยู่ใน Winning Zone ได้อย่างแท้จริง

“แบรนด์ต้องมอบสิ่งที่เราสัญญากับลูกค้าไว้ผ่านทางทุกประสบการณ์ให้ได้จริงๆ”

เราพูดกันบ่อยๆ ว่าไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยนแปลงไป คำว่า ‘เปลี่ยน’ นี้รวมถึงอะไรบ้าง และเราจะสร้างโอกาสอะไรได้จากความเปลี่ยนแปลงนี้

ดิฉันมองว่าเรามาเริ่มต้นจากคำถามที่ว่า “แบรนด์ของเราสนใจใคร” ก่อนดีกว่าค่ะ เพราะคำว่าเปลี่ยนแปลงมันกินความหมายกว้างมาก เช่นการวางกลุ่มเป้าหมายแบบอายุ 25 – 40 ปี มันก็ไม่ใช่สิ่งที่นักการตลาดยุคนี้ทำกันแล้ว เพราะคนอายุ 25 เขาก็มีไลฟ์สไตล์ที่ต่างกันได้สุดขั้ว เช่นเดียวกับคนวัย 40 ที่ก็อาจใช้ชีวิตไม่เหมือนกันเลย ดังนั้นสิ่งที่ควรทำอันดับแรกคือคุณต้องวางเป้าหมายให้ชัดเจนก่อนว่าลูกค้าของคุณคือใคร ต้องเข้าใจไลฟ์สไตล์ของเขาจริงๆ แล้วค่อยไปพูดกันเรื่องความเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมนะ ยกตัวอย่างเช่นดิฉันพบกว่าเด็กวัยรุ่นอายุ 18 – 23 เขาให้คุณค่ากับเรื่องท่องเที่ยวมากเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนอันดับสองคือการถ่ายภาพ เขาสามารถขนข้าวของอุปกรณ์เครื่องแต่งกายไปมากมายเพื่อไว้สลับสับเปลี่ยนขณะท่องเที่ยว พฤติกรรมนี้คือ Social Currency ของเด็กวัยมหาวิทยาลัย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้แหละเป็นสิ่งเรานำมาใช้ออกแบบโปรโมชั่นใหม่ๆ ให้เขาได้ เช่น ถ้าต้องการมอบสิทธิพิเศษให้วัยรุ่นกลุ่มนี้ เรื่องการเดินทาง ตั๋วเครื่องบิน ที่พัก หรืออุปกรณ์การถ่ายภาพ จะเรียกร้องความสนใจเขาได้มากเป็นพิเศษ

“ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แบรนด์ที่เข้าใจลูกค้ามากกว่าก็จะเป็นผู้ชนะเสมอ”
เครื่องมือในการวิจัยข้อมูลลูกค้าเปลี่ยนแปลงไปด้วยไหม

ปัจจุบันมีหลายวิธีคิดค่ะ วิธีหนึ่งที่ดิฉันมองว่าน่าสนใจมากคือการใช้ Design Thinking (กระบวนการคิดเชิงออกแบบ) มาช่วยสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ กระบวนการนี้ประกอบไปด้วย 3 เฟสคร่าวๆ คือ

1) Problem Phase คือเราต้องทราบถึงปัญหาที่แท้จริงของเขาก่อน ต้องเข้าใจชีวิตของกลุ่มเป้าหมาย โดยผ่านการพูดคุย การไปใช้ชีวิตร่วมกันกับเขาสักช่วงหนึ่ง หรือลองทำตัวเป็นลูกค้าเองเพื่อไปสัมผัส pain point ที่เขาต้องเจอ ฯลฯ

2) Prototype Phase ขั้นนี้เราจะนำ insight จากเฟสแรกมาสร้างเป็นแนวคิดการแก้ปัญหา โดยบางเรื่องก็อาจต้องการระบบบริการเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ขึ้นมาทั้งหมด

3) Solution Phase เป็นช่วงที่เรานำแนวคิดจากเฟสสองมาทดสองค่ะ หัวใจคือไม่ต้องลงทุนเยอะ แค่ลองสร้างอุปกรณ์หรือขั้นตอนบริการง่ายๆ เพื่อทดสอบแนวคิดว่ามันเวิร์คกับกลุ่มเป้าหมายไหม ถ้าผิดพลาดก็ขอให้รับรู้เร็ว พร้อมจะปรับตัว แก้ไข พัฒนาใหม่อย่างรวดเร็ว แล้วก็นำไปทดสอบอีก จนกว่าผลลัพธ์ออกมาดีก็ค่อยนำไปพัฒนาผลิตจริง

ทุกวันนี้การหา Insight ของลูกค้าก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีไปเยอะ นอกจากการศึกษาไลฟ์สไตล์แล้วยังมีการนำ Big Data มาวิเคราะห์ร่วมด้วย ซึ่งจะช่วยให้นักการตลาดให้คาดการณ์เทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคในอนาคตได้ดี

เครื่องมือสื่อสารการตลาดใดที่น่าสนใจที่สุดในปัจจุบัน

การเลือกใช้เครื่องมือสื่อสารจะแปรผันตามเป้าหมายทางการตลาดของเรานะคะ  คุณต้องชัดเจนก่อนว่าคุณต้องการทำอะไร เครื่องมือแต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียต่างกัน เราแค่ต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับบริบทและงบประมาณที่มี เปรียบเทียบง่ายๆ เช่น ถ้าให้คุณเลือกระหว่างกรรไกรกับมีด คุณคงเลือกไม่ถูกว่าจะใช้อันไหน จนกว่าคุณจะรู้ว่าคุณจะตัดกระดาษหรือจะหั่นผลไม้ ถูกไหมคะ  สำหรับเครื่องมือสื่อสารบนโลกออนไลน์ที่กำลังมาแรง มันก็ไม่ได้หมายความว่าทุกแบรนด์ต้องนำมาใช้เสมอไป หน้าที่ของนักการตลาดที่ดีคือการวิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภคของลูกค้า นำมาสู่การเลือกเครื่องมือสื่อสารที่สอดคล้องกัน ทุกวันนี้การตลาดออนไลน์ที่ต้องแข่งขันกันรุนแรงมักจะเป็นธุรกิจที่ถูก disrupt ไปแล้วอย่างสูง เช่น ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจรีเทล ที่เปลี่ยนรูปแบบการค้ามาอยู่บนมือถือเกือบทั้งหมดแล้วเป็นต้น

Creative Juices

– อย่าหยุดเรียนรู้ นักการตลาดต้องเป็นนักเรียนตลอดชีวิต วัฒนธรรมการชอบเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งเราสามารถจะเรียนได้จากหลายๆ ช่องทาง เช่น

1) การไปเข้าร่วม conference ต่างๆ เพื่ออัพเดทข้อมูลข่าวสาร เรียนรู้ทิศทางที่โลกกำลังขับเคลื่อนไป

2) เรียนผ่านสื่อออนไลน์ที่มีคอร์สเปิดสอนมากมาย

3) เรียนเองจาก website หรือ application ต่างๆ ที่เป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูล ติดตาม Thought Leader ในโลกเพื่อเรียนรู้แนวคิดใหม่ ยกตัวอย่างแอพลิเคชั่น Blinklist ที่ย่อหนังสือ Big Idea ต่างๆ จากทั่วโลกไว้กว่า 2,500 เล่ม

– ความคิดสร้างสรรค์สร้างได้ทุกวัน ส่วนตัวเป็นคนชอบความท้าทายมาก เวลาจะทำอะไรทีต้องให้ดีที่สุด (และไม่เสียใจหากผลลัพธ์ไม่เป็นอย่างที่คิด) นอกจากนั้นเราทุกคนต้องหมั่นหาแรงบันดาลใจจากโลกรอบตัว และหากิจกรรมพักผ่อนเพื่อเติมพลังชีวิตด้วย


ผู้เขียน
สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์

เป็นเหมือนร้านค้าสร้างสรรค์ที่ชวนให้ใครต่อใครมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตั้งแต่ภูมิปัญญาท้องถิ่นไปจนถึงดีไซน์ในอีกซีกโลก อีกมุมหนึ่งเขาคือคนล่องเรือ เดินเมืองเก่า ที่ไม่เคยหยุดเดินทางเพราะความหลงใหลวิถีชีวิตท้องถิ่น

สมัครรับข่าวสาร

logo