สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย จัดงานวันนักการตลาด “Thailand Marketing Day 2022 : The Game Changer” สุดยอดฟอรั่มการตลาดแห่งปีที่รวมหลากเรื่องราวของความเปลี่ยนแปลงในโลก Post-Pandemic เปิดวิสัยทัศน์ – ปรับกลยุทธ์ – เปลี่ยนผลลัพธ์ กับหลากหลายเรื่องราวของ “จุดเปลี่ยน” จาก 20 วิทยากรผู้ทรงเกียรติ พร้อมพร้อมเผยทิศทางการตลาดแห่งอนาคต และแนวทางการปรับตัวทางธุรกิจด้วยแนวคิด C.A.R.E
29 พฤศจิกายน 2565 – กรุงเทพฯ : ดร. บุรณิน รัตนสมบัติ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา มีความผันผวนเกิดขึ้นมากมายในโลกของเรา และส่งผลกับโลกธุรกิจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานการณ์โควิด-19 สถานการณ์คุกรุ่นระหว่างประเทศซึ่งยังไม่จบและยากจะคาดการ สถานการณ์เศรษฐกิจที่มีความผันผวน สถานการณ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ต้องเฝ้าระวัง และสถานการณ์ด้านเทคโนโลยีที่ส่งผลทั้งด้านบวกและด้านลบ เราอยู่ในโลกที่ยากจะคาดเดา แต่สิ่งหนึ่งที่เรารู้แน่ๆ คือ เราทุกคนต้องเดินหน้าต่อ ต้องเรียนรู้ ปรับตัว และสู้ไปด้วยกัน
ตลอดปี 2565 ที่ผ่านมา สมาคมการตลาดฯได้ยืนเคียงข้างผู้ประกอบการในฐานะแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้เรียนรู้และสร้างเครือข่ายการตลาดผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อติดอาวุธทางการตลาดยุคใหม่ให้แก่สมาชิก และ ผู้ประกอบการทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นงาน MAT National Webinar งานสัมมนาออนไลน์ฟรีที่จัดเพื่อผู้ประกอบการ คณาจารย์ และนักศึกษาทั่วประเทศ หรือการสานต่อโครงการณ์ MAT CMO Council และ MAT Academic Council ที่มุ่งสร้างเน็ตเวิร์คในภาคเอกชนและภาคการศึกษา รวมถึงโครงการอื่นๆอีกมากมาย และทางสมาคมฯยังมุ่งพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะเดินเคียงข้างเพื่อนๆนักการตลาดไทยไปด้วยกัน
จากสถานการณ์ที่ผ่านมา ต้องยอมรับความผันผวนต่างๆ ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง ที่เราเรียกได้ว่า เป็น “Game Changer” ของโลกธุรกิจและโลกการตลาดเลยทีเดียว โดยสมาคมการตลาดฯมองว่า “จุดเปลี่ยน” ที่จะนำเราไปสู่อนาคตที่แข็งแรงขึ้นนั้น มี 4 ด้านด้วยกัน คือ
• Perspective Changer จุดเปลี่ยนด้านวิสัยทัศน์ เราจะเปลี่ยนมุมมองไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ พลิกความคิด พิชิตกลยุทธ์ใหม่ได้อย่างไร
• Practice Changer จุดเปลี่ยนด้านวิธีการ ออกจากเส้นทางเดิมๆ เริ่มเดินบนทิศทางใหม่ เมื่อเรากล้า ที่จะก้าว ผลลัพธ์ก็เปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด
• Platform Changer จุดเปลี่ยนด้านเทคโนโลยี เราต้องทำความเข้าใจกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ว่าอะไรคือสิ่งที่ใช่ อะไรหรือสิ่งที่ต้องระวัง หรืออะไรคือสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต
• Planet Changer จุดเปลี่ยนด้านคุณค่าของธุรกิจต่อโลกและสังคม ในยุคที่ผู้บริโภคมองหาแบรนด์ที่มอบคุณค่าที่มากกว่าตัวสินค้า แล้วเราจะหาจุดลงตัวของผลกำไรทางธุรกิจและผลลัพธ์เชิงบวกแก่โลก และสังคมได้อย่างไร
โดยในงาน Thailand Marketing Day นี้ สมาคมการตลาดฯ ได้เรียนเชิญผู้นำภาคธุรกิจและการตลาดกว่า 20 ท่านมาแชร์วิสัยทัศน์ แบ่งปันมุมมอง เปิดประสบการณ์เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการและนักการตลาดไทยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำไปปรับใช้ให้เกิด “Game Changer Moment” ได้จริง
และสมาคมการตลาดฯ ขอฝากประเด็นสำคัญ ในเรื่องความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค และ แนวทางการปรับตัวขององค์กร เพื่อให้ทุกท่านพร้อมรับโอกาสใหม่ๆที่เข้ามาพร้อมความเปลี่ยนแปลง
ในมุมของผู้บริโภคนั้น มีการเปลี่ยนแปลงต่อยอดมาจากเทรนด์ที่เกิดขึ้นในช่วง Covid-19 ที่ผ่านมา เราสามารถสรุปความต้องการของเขา เป็น 4C คือ
1. Caring เขาต้องการแบรนด์ที่เสนอทั้ง ของดี และ คิดดี ในที่นี้ คือ แบรนด์ที่มีสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ ตรงตามใจและมาตรฐานของพวกเขา แต่ในขณะเดียวกัน ก็คิดดีต่อโลกและสังคม
2. Community based และแบรนด์นั้นต้องเป็น เพื่อนที่ดี ใน สังคมที่ดี … เราอยู่ในยุคที่สังคมถูกเชื่อมต่อด้วย social media จึงต้องยอมรับว่า ลูกค้ามักจะเลือกแบรนด์ที่เป็นพวกเดียวกับเขา เชื่อในสิ่งเดียวกับเขา ยืนหยัดในสิ่งเดียวกับพวกเขา
3. Connected experiences นอกเหนือจากนี้ การเชื่อมต่อกับพวกเขาก็เป็นสิ่งสำคัญ คำว่า สื่อสารดี และ ประสบการณ์ดี อาจไม่ได้หมายความถึงการสร้างแคมเปญใหญ่ๆหรือจัดeventใหญ่ๆอีกต่อไป แต่คือการเชื่อมโยงทุกช่องทางอย่างไร้รอยต่อ เพื่อให้ข้อมูลที่เที่ยงตรง และสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่พวกเขา ทั้ง Offline and Online และ Offline in Online ซึ่งข้อนี้ จะนำไปสู่เรื่อง Marketing 6.0 ที่เราจะได้ฟังในช่วงท้ายของวันนี้ด้วย
4. Competitive Price & Value และสิ่งสุดท้าย ที่สำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นๆ คือ ราคาดี และ คุ้มดี … จริงอยู่ ว่า ลูกค้าต้องการของดีจากแบรนด์ที่คิดดี แต่ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไม่แน่นอน การเงินและสถานการณ์ต่างๆผันผวน อนาคตไม่แน่นอน ลูกค้าจึงมีความระวังในการใช้เงินมากขึ้น ดังนั้น ราคาที่ดีก็เป็นปัจจัยสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ในปีที่จะมาถึงนี้ ซึ่งในเรื่องของราคานี้ ไม่ได้แปลว่าราคาถูกที่สุดเสมอไป แต่เป็นมุมของความคุ้มค่าที่เขาได้รับมากกว่า ดังนั้น นักการตลาดจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องกลยุทธ์การตั้งราคามากเลยทีเดียว
เมื่อเรามองในมุมของลูกค้าไปแล้ว ก็กลับมามองในมุมขององค์กรบ้าง ว่า หากเราต้องการที่จะ Riding the wave of changes to the future นั้น เราต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ผมจะขอแชร์ว่า องค์กร ต้องเริ่มที่คำว่า C.A.R.E แคร์ที่แปลว่าห่วงไย หรือแปลอีกอย่างคือ
1. C – Careful จริงๆอยู่ การทำธุรกิจในโลกยุคนี้ต้อวงมีความรวดเร็ว แต่สิ่งที่ต้องมีเพิ่มขึ้นมา คือ ต้องมีความระแวดระวังในทุกๆด้าน คิดให้ลึก คิดให้รอบด้าน คิดให้รอบคอบ เพื่อลดความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ
2. A – Authentic คุณต้องเป็นตัวจริง และยืนอยู่ในสนามของคุณจริงๆ ในยุคนี้ผู้บริโภครู้ทันแบรนด์ทุกอย่าง ความชัดเจน โปร่งใส ตั้งใจ และ ทำจริง จึงเป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะเป็นพื้นฐานที่มั่นคง
3. R – Resilience การยืดหยุ่น พร้อมปรับตัวคือคุณสมบัติสำคัญของความอยู่รอด เพราะธุรกิจยุคใหม่ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เราไม่สามารถเอารูปแบบเดิมๆมาใช้เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ใหม่ๆ และโลกก็เปิดกว้างมากพอให้เราเรียนรู้และพัฒนาได้ตลอด หากล้ม ก็ให้เอาประสบการณ์มาปรับ แล้วลุกเดินต่อ ที่ยืดหยุ่นและอดทน คือผู้ที่จะสามารถอยู่รอดในยุคนี้
4. E – Empathy ทำความเข้าใจด้วยหัวใจ คุณสมบัตินี้สำคัญมากๆสำหรับทุกองค์กร ไม่ใช่แค่การทำความเข้าใจลูกค้าภายนอก แต่รวมถึงภายในด้วย เพราะความแข็งแกร่งของทุกองค์กรเริ่มจากข้างใน และการจะพัฒนาคนข้างในได้ เราก็ต้องเข้าใจเขาอย่างแท้จริงด้วย
ผมและคณะกรรมการบริหารของสมาคมการตลาดฯทุกท่านหวังเป็นอย่างยิ่งว่า งานในวันนี้ จะช่วยเปิดวิสัยทัศน์ จุดประกายไอเดีย และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆให้แก่ผู้บริหาร ผู้ประกอบการ และ นักการตลาดทุกท่านนะครับ” ดร. บุรณิน กล่าวทิ้งท้าย
****************************************************
ขอขอบคุณสำหรับการเผยแพร่ข่าวและหากต้องการขอข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย โทร 02 – 679 7360 – 3
ม.ร.ว. สุทธิภาณี ยุคล (หญิงนุ่น) 097 – 159 0916