ด้วยการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในช่วงปลายปี 2020 ส่งผลให้เหล่า Office Worker ต้องกลับสู่ภาวะ WFH (Work from Home) กันอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ หลายๆ ท่านสามารถปรับตัวได้ดีขึ้น
ในขณะที่บางท่านบ่นว่า WFH ครั้งแรก ทำให้น้ำหนักขึ้น บางท่านเสีย Work-life Balance เพราะต้องทำงานจนดึกจนดื่น และมีความเครียดมากขึ้น จากการที่ไม่ได้คุยกับคนอื่น เพราะต้องกักตัวอยู่กับบ้าน แต่บางท่านก็ชอบ เพราะมีโอกาสได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพิ่มเติม บางท่านหันมาสั่งอาหาร Delivery มากขึ้น บางท่านก็ถึงขั้น เริ่มเป็นเชฟมือสมัครเล่นแล้ว
จากการสัมภาษณ์บุคคลทั่วไปจำนวน 500 ตัวอย่าง ผ่านทาง Asia Panel ของกลุ่มบริษัทอินเทจ เพื่อสอบถามว่าคนส่วนใหญ่ รู้สึกอย่างไรกับการ WFH รอบนี้ พบว่า ผู้คนปรับตัวกับการ WFH ในรอบนี้ได้ดีขึ้น บางท่านสามารถปรับจนมี Work-life Harmony ได้ดีกว่าในช่วงที่ผ่านมา
หนึ่งในสามของผู้ที่ให้สัมภาษณ์ มีความสุขที่ได้ WFH มากกว่า โดยที่ตัวเลขนี้มีความแปรผันกับอายุ เมื่อลงไปดูตามวัย พบว่ากลุ่มเด็กนักศึกษามหาวิทยาลัย มีสัดส่วนที่ไม่ชอบการเรียนออนไลน์สูงกว่า เนื่องจากมองว่า ผู้สอนบางท่านยังไม่มีความเข้าใจในระบบออนไลน์ ทำให้รู้สึกว่า Experience ในการเรียนด้อยลง
ความสุขที่ได้รับจากการ WFH
- ได้ใช้เวลากับคนในครอบครัวมากขึ้น 24%
- ประหยัดเวลาเดินทาง 20%
- มีอิสรภาพในการทำงานสูงขึ้น 12%
- มีสมาธิดีกว่า 9%
- รู้สึกสะดวกสบายมากกว่า 9%
สิ่งที่ขาดจาก WFH
- ต้องการพบปะผู้คน 58%
- อยู่บ้านนานๆ ก็เบื่อ 15%
- ทำงานไม่สะดวก 12%
- ขาดการติดต่อกับคนอื่นๆ ไม่ทันข่าวสาร 12%
- เสียโอกาสในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น 12%
ในทางกลับกัน กลุ่มวัยทำงานมองว่า การได้ WFH ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย และ ประหยัดเวลา ในการเดินทางได้เป็นอย่างมาก ทำให้สามารถใช้เวลาที่ได้กลับมานี้ กับงานได้เต็มที่ อีกทั้งยังสามารถแบ่งเวลาเพื่อตัวเองได้ โดยได้ไปออกกำลังกาย หรือศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สบายใจมากกว่า ซึ่งถือว่า เป็น Work-life Harmony
ปัจจัยที่ส่งเสริมให้การ WFH มีความสุข คือ สิ่งที่ทำให้เกิด Efficiency และความสามารถในการจัดสรรเวลาทำกิจกรรมอย่างอื่น ในขณะที่ สิ่งที่ผู้คนรู้สึกขาดหายไป ก็คือ Human Interaction หรือ Social Needs นั่นเอง
ออกจากบ้าน 1-2 วันต่อสัปดาห์
ครั้งละ 2-5 ชั่วโมง
การมีเวลาให้กับตัวเองมากขึ้น เป็นหนึ่งในข้อดีของการ WFH โดยที่ 57% ของผู้สัมภาษณ์กล่าวว่า เขาสามารถออกกำลังกายได้มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมานี้ โดยที่สามารถทำได้ทุกวัน เป็นระยะเวลาครั้งละ 30 นาที – 1 ชั่วโมง โดยกิจกรรมออกกำลังกายสุดฮิต คือการวิ่ง Jogging ในบริเวณบ้าน และการออกกำลังกายประเภทโยคะ
อีกทั้ง 35% ของกลุ่มผู้ให้สัมภาษณ์ บอกว่าเขาได้รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ในช่วงที่ผ่านมา
สาเหตุหลักของการออกกำลังกายและดูแลสุขภาพมากขึ้น เนื่องจากคนเหล่านี้มองว่า เขาได้โอกาสในการบริหารเวลาได้ดีขึ้น และเรียนรู้ที่จะควบคุมน้ำหนักดีขึ้นกว่าการ WFH ครั้งที่แล้ว
อีกทั้ง การอยู่บ้าน ทำให้เขาได้มีเวลาตั้งใจหาอาหารที่ดีให้กับตนเอง เมื่อเปรียบเทียบกับตอนทำงานหรือเรียน ที่ต้องเจออาหาร Junk Food ค่อนข้างเยอะ ทำให้คนกลุ่มนี้ตั้งปณิธานในการดูแลตัวเองให้ดีขึ้น เมื่อได้รับโอกาสครั้งใหม่นี้
ถึงแม้การ WFH จะช่วยให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และยังทำให้มี Efficiency ได้ดีในระดับหนึ่งแต่ในภาพรวมแล้ว คนส่วนใหญ่ยังคงต้องการที่จะกลับไปทำงานที่ออฟฟิศหรือเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยด้วยปัจจัยหลักๆ ด้านสถานที่ อุปกรณ์การทำงาน การเรียนการสอนที่พร้อมกว่า ระบบอำนวยความสะดวกในที่ทำงาน ที่ทำให้การประสานงานราบรื่นยิ่งขึ้น ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงที
Work at Office 47%
ปัจจัยที่ทำให้อยากกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ
- สามารถพูดคุยปรึกษากับคนอื่นได้ 22%
- ประสานงานได้ง่ายกว่ามาก 20%
- มีอุปกรณ์พร้อมมากกว่า 19%
- สามารถแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วกว่า 13%
- รู้สึกมีประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่า 11%
WFH 14%
ปัจจัยที่ทำให้อยาก WFH
- มีสมาธิในการทำงานมากกว่า 24%
- ทำงานได้เพิ่มขึ้น 24%
- ประหยัดเวลาในการเดินทาง 24%
- สบายใจมากกว่า 12%
- ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง 10%
Indifference 39%
จากการศึกษาในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่า Functional Benefits ของการ WFH จะดีเช่นไร ความต้องการทาง Social Needs ก็จะเป็นจุดผลักดันให้คนอยากมีเวลาที่ออฟฟิศบ้าง
ถ้ามองในด้านการบริหารงานบุคคลขององค์กร นโยบายการสลับวันเข้าทำงานของพนักงาน อาจเป็นแนวทาง Win-Win ให้ทั้งพนักงานและองค์กร ในการบริหารค่าใช้จ่าย เวลา และประสิทธิภาพการทำงาน
ส่วนในมุมมองการตลาด เห็นได้ชัดว่า ไม่ว่าสินค้าหรือบริการของเราจะดีอย่างไรใน Functional Benefits แต่ถ้าไม่มี Emotional หรือ Social Fulfillment Benefits เลย ก็อาจจะไม่สามารถรักษาลูกค้าให้อยู่กับเรา หรือ รักเดียวใจเดียวกับแบรนด์ของเราได้ยาวนาน
บทความโดย INTAGE (Thailand) Co., Ltd.